อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

  สินสมรสหรือสินส่วนตัว (10132 อ่าน)

7 ก.ย. 2555 11:52

สวัสดีค่ะ ดิฉันอยากจะเรียนถามว่า สามีที่เป็นชาวต่างชาติ ( เยอรมัน )แต่งงานกับภรรยาคนไทย หลังจากแต่งงานได้สองเดือน ชาวต่างชาติได้รับเงินก้อนหนึ่งจากบิดา โดยระบุชื่อสามีเพียงคนเดียวไม่ใช่ของขวัญแต่งงาน ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งของมรดกที่จะได้รับ บิดาของต่างชาติจะให้ลูกทั้งห้าคนเท่าๆกันในทุกๆ 10 ปี ซึ่งเป็นการเลี่ยงภาษี แต่ถูกต้องตามกฏหมาย ในการเลี่ยงภาษีในประเทศเยอรมันในกรณีนี้ ต้องเป็นบุตรเพียงผู้เดียวที่รับมรดก ไม่รวมคู่สมรส

หลังจากสามีได้รับเงินมรดก ก็นำเงินมาซื้อบ้านสองหลัง และรถยนต์หนึ่งคัน แต่เป็นชื่อภรรยาทั้งหมด เพราะตามกฏหมายต่างชาติไม่มีสิทธิ์ครอบครอง สามีภรรยาอยู่ด้วยกันมาจน 8 ปี ได้ตกลงแยกกันอยู่เป็นเวลาสองปีแล้วและตกลงจะหย่ากันภายหลัง ตอนนี้ภรรยาไม่ยอมแบ่งทรัพย์สินให้สามี สามีจึงฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากภรรยา

ในกรณีนี้สามี (นายอิงโก)อ้างว่าบ้านสองหลังและรถยนต์เป็นสินส่วนตัว เพราะได้นำเงินที่ได้รับมรดกมาซื้อ

ภรรยาก็ได้อ้างว่าเป็นสินสมรส เพราะได้รับเงินหลังจากแต่งงานแล้ว

จึงอยากจะเรียนถามว่าเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสค่ะ ดิฉันได้แนบเอกสารที่สามีได้รับจากบิดามาให้พิจารณาดังนี้ค่ะ ( แปลจากภาษาเยอรมัน )

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544

ถึง อิงโกที่รัก

โดยการกระทำนี้ ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ทราบว่า วันนี้ข้าพเจ้าได้โอนเงินเป็นจำนวนดอยท์เชอ มาร์ค 392,486.19 เข้าบัญชีของคุณหมายเลขที่ 0085374081 ที่ธนาคารดอยท์เชอ อโพเธเคอร์และแอร์ชเทอะ เพื่อเป็นของขวัญ

เงินจำนวนนี้ได้ฝากประจำตามรายงานที่แนบใว้ให้ โดยมีวันสิ้นสุดต่างกัน ข้าพเจ้าหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์จากเงินตามเหมาะสม

ลงสายมือชื่อ

บิดา











อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

8 ก.ย. 2555 16:00 #1

ตอบคำถามคุณอำไพดังนี้ครับ
        ประเด็นแรก เงินที่สามีได้มาระหว่างสมรสดังกล่าวถือเป็นสินสมรสหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องสินส่วนตัว และสินสมรส ดังนี้

        “มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
          (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
          (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
          (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดย การให้โดยเสน่หา
          (4) ที่เป็นของหมั้น

          มาตรา 1472 สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
          สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว

          มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ

          มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
          (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
          (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
          (3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
                ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส”
               
            ดังนี้ แม้เงินที่พ่อสามีมอบให้แก่สามีนั้น จะได้มาระหว่างสมรสก็ตาม แต่เป็นการรับให้โดยเสน่หา และไม่มีหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส เงินดังกล่าวจึงถือเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471 (3) และ 1474 (2) และหากนำไปซื้อทรัพย์สินอื่นในระหว่างสมรส ทรัพย์สินนั้นก็ถือเป็นสินส่วนตัวเหมือนเดิม ตามมาตรา 1472 ครับ ดังนั้น จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงทำให้เห็นว่าทรัพย์สินทุกอย่างที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่ได้ตกเป็นสินสมรสทั้งหมดทุกกรณี แต่จะเป็นสินสมรสหรือไม่ต้องพิจารณาจากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเท่านั้นครับ
           ประเด็นต่อมา การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นคนสัญชาติไทย จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินในประเทศไทย กรมที่ดินมีระเบียบให้ฝ่ายต่างชาติทำเอกสารรับรองว่าเงินที่นำมาซื้อนั้นเป็นเงินทรัพย์สินส่วนตัวของคู่สมรสคนไทย เพื่อตัดปัญหาเรื่องไม่ต้องการให้ต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั่นเอง แต่ส่วนมากก็จะเลี่ยงกฎหมายโดยความจริงเงินที่นำมาซื้อก็เป็นเงินของต่างชาติ เพียงแต่ทำเอกสารไปเพื่อให้ครบถ้วนเท่านั้นเอง ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความผิดอาญาข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน 
            ดังนั้น คดีของคุณจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเงินที่นำมาซื้อเป็นสินส่วนตัวของคุณตามเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานที่ดิน แต่สามีฝรั่งก็สามารถนำสืบพยานหลักฐานหักล้างได้เช่นกัน โดยนำสืบเรื่องที่มาของเงิน และหลักฐานการรับโอนเงินและเบิกถอนเงินจากบัญชีต่าง ๆ หากสามีนำสืบได้ดังนี้ศาลอาจพิพากษาคืนเงินให้สามีทั้งหมด การต่อสู้คดีเรื่องนี้จึงต้องอาศัยเทคนิคการว่าความของทนายความแต่ละคนเพื่อขอแบ่งทรัพย์สินครึ่งหนึ่ง หรือเพื่อให้ได้มาทั้งหมด ส่วนประเด็นคำถามคุณผมได้ตอบให้ทั้งหมดแล้ว ขอให้โชคดีครับ

สอบถามคุณอำไพเพิ่มเติมว่ามีบุตรด้วยกันหรือไม่

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

10 ก.ย. 2555 09:29 #2

ดิฉันมีลูกสองคนกับสามีเก่าลูกอายุ 22 ปีและ 24 ปี แต่กับสามีชาวเยอรมันไม่มีลูกด้วยกันค่ะ ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำแนะนำ เป็นประโยชน์มากทีเดียวค่ะ

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

10 ก.ย. 2555 22:07 #4

หากคุณอำไพมีข้อสงสัยประการอื่น ก็สอบถามเพิ่มเติมได้ครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

11 ก.ย. 2555 11:16 #5

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

25 ก.ย. 2555 16:36 #6

สวัสดีทนายภูวรินทร์อีกครั้งค่ะ ดิฉันขอเรียนถามเพิ่มเติมค่ะ ดิฉันขอยกประเด็นนี้มาถามค่ะ
ประเด็นต่อมา การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นคนสัญชาติไทย จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินในประเทศไทย กรมที่ดินมีระเบียบให้ฝ่ายต่างชาติทำเอกสารรับรองว่าเงินที่นำมาซื้อนั้นเป็นเงินทรัพย์สินส่วนตัวของคู่สมรสคนไทย เพื่อตัดปัญหาเรื่องไม่ต้องการให้ต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั่นเอง แต่ส่วนมากก็จะเลี่ยงกฎหมายโดยความจริงเงินที่นำมาซื้อก็เป็นเงินของต่างชาติ เพียงแต่ทำเอกสารไปเพื่อให้ครบถ้วนเท่านั้นเอง ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความผิดอาญาข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน
สามีและพนักงานที่ดินได้แจ้งข้อหาดิฉันแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามความผิดประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 ตอนนี้ทางสถานีตำรวจได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้อัยการจังหวัดแล้ว ส่วนในคดีแพ่งสามีได้ฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนทั้งหมด
ก่อนที่ดิฉันเจอสามีต่างชาติดิฉันได้นำบ้านไปจำนองใว้กับเพื่อน 300,000 บาท หลังจากนั้นก็แต่งงานกับสามีต่างชาติ และสามีได้โอนเงินให้ดิฉันไปไถ่ถอนจำนอง (บ้านหลังแรก) แต่ในตอนที่ดิฉันทำสัญญานั้นในสัญญาระบุใว้ว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใดเพราะผู้รับเป็นญาติกัน
ส่วนบ้านหลังที่สองซื้อในจำนวน 1,500,000 บาท แต่ในหนังสือสัญญาขายระบุว่าซื้อในราคา 500,000 บาท หากบ้านทั้งสองหลังนี้สามีสามารถนำสืบพยานหลักฐานได้ว่าราคาที่ซื้อไม่ตรงกับในสัญญาจะเป็นการแจ้งความเท็จต่อพนักงานอีกหรือไม่ค่ะ และโทษหนักขนาดไหนค่ะ ขอบคุณค่ะ

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

28 ก.ย. 2555 00:20 #7

            ตามประมวลกฎหมายอาญามีบทบัญญัติไว้ดังนี้
            มาตรา 137 บัญญัติว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจ ทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”  และ
            มาตรา 267 บัญญัติว่า “ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
            อัตราโทษที่กฎหมายระวางไว้ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นไม่ได้บังคับให้ศาลต้องพิพากษาลงโทษเต็มอัตราแต่อย่างใด โดยให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นรายคดีไป ตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7115/2547 สรุปความว่า ความมุ่งหมายของความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารคือ เพื่อคุ้มครองความเด็ดขาดของอำนาจรัฐ แม้กฎหมายกำหนดให้ถือเอาความเสียหายที่อาจมีแก่ผู้อื่นเป็นองค์ประกอบของความผิดอยู่ด้วย แต่ความเสียหายดังกล่าวก็ต้องเป็นความเสียหายในตัวเองจากการแจ้งความเท็จหรือจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จนั้น มิใช่ความเสียหายอื่นซึ่งอยู่ห่างไกล คดีนี้ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 5 เดือน  แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดห้าปี (ไม่ต้องถูกจำคุกจริงเพียงแต่ถูกคาดโทษไว้เท่านั้น)
            ส่วนเรื่องราคาบ้านทั้งสองหลังซึ่งแจ้งไว้ไม่ตรงกับความจริง และปรากฏอยู่ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและบันทึกถ้อยคำเกี่ยวกับการทำนิติกรรม ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารทั้งหมดที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินนั้น เมื่อข้อความเป็นความเท็จ ก็ถือได้ว่ามีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและมีการแจ้งข้อความให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จแล้ว  เรื่องนี้ไม่ทราบว่ามีการแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่ หรือเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากครับ  แต่หากถูกดำเนินคดีจริง และคดีที่มีการยื่นฟ้องแล้วก็ควรให้การรับสารภาพตามความจริง โดยอาจให้การลักษณะว่าสามีชาวต่างชาติก็มีส่วนร่วมในการวางแผนกระทำความผิดในลักษณะเป็นตัวการร่วมช่วยกันคิดช่วยกันทำด้วย เมื่อพิจารณาลักษณะคดีแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่กระทบกระเทือนต่อความสงบสุขของประชาชน การให้การรับสารภาพถือเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลจะเมตตาลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษไว้ไม่ต้องถูกจำคุกจริง ๆ ครับ มีข้อสงสัยก็สามารถโทรศัพท์สอบถามได้  ยินดีให้คำปรึกษาครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

29 ก.ย. 2555 20:29 #8

การแจ้งความเท็จเรื่องสัญญาซื้อขายที่ไม่ตรงตามราคาที่ซื้อใว้ ตอนนี้ยังไม่มีการฟ้องหรือแจ้งความค่ะ แต่สามีขู่ว่าจะฟ้องแน่ค่ะ
รบกวนอีกครั้งค่ะ ถ้าหากราคาในสัญญาซื้อขายเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท และถ้าสามีชนะคดีแพ่ง (เรียกทรัพย์สินคืน) แล้วนำบ้านไปขายได้เงินมา 2,000,000 บาท ส่วนต่าง 1,500,000 บาท จะเป็นดอกผลสินส่วนตัว แล้วดิฉันจะมีส่วนได้จากส่วนต่างนี้มั้ยค่ะ ขอบคุณค่ะ

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

1 ต.ค. 2555 19:59 #9

               คดีอาญาได้บอกไปแล้วว่าการต่อสู้คดีก็ต้องเป็นไปลักษณะว่าสามีมีส่วนในการทำผิดด้วย 
             แต่ในส่วนคดีแพ่งนั้น ต้องพิจารณาคำฟ้องว่าสามีตั้งเรื่องมาอย่างไร  ซึ่งคิดว่าการฟ้องเรียกเงินคืนต้องระบุขอให้คืนเงินจำนวน 1.5 ล้าน พร้อมดอกเบี้ยอยู่แล้ว  ส่วนโจทก์จะได้ตามที่ฟ้องขอมาหรือไม่ หรือคุณจะได้รับส่วนแบ่งหรือไม่ ก็ต้องดูว่าคุณยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าอย่างไร ยอมรับว่าเป็นจริง หรือต่อสู้ปฏิเสธว่าเงินนั้นเป็นการที่สามีให้โดยเสน่หาแก่คุณแล้ว ไม่ต้องคืน พร้อมทั้งได้มีการใช้เงินส่วนตัวปรับปรุงซ่อมแซมเพิ่มเติมทำให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างไรหรือไม่ 
             หลักกฎหมายคดีแพ่งกำหนดให้ผู้กล่าวอ้างมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น เพื่อให้ศาลเชื่อและพิพากษาให้ตามฟ้องอยู่แล้ว หากสืบไม่ได้ศาลก็อาจพิพากษายกฟ้อง หรือพิพากษาให้ตามที่สืบได้ และหากมีการขายทอดตลาดได้เงินเกินกว่าที่โจทก์ฟ้อง มีการกล่าวอ้างว่าขอให้คืนแก่ฝ่ายไหนอย่างไรหรือไม่ด้วยครับ สิ่งสำคัญคดีนี้ก็คือคำให้การของคุณนั่นเองครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ณัฐ

ณัฐ

ผู้เยี่ยมชม

3 ธ.ค. 2555 00:05 #10

เรียนคุณทนาย อยากทราบว่าสามีต่างชาติให้สินสอดทองหมั้นเป็นคอนโดที่ต่างประเทศแต่ยังไม่ได้โอนเค้าบอกจะโอนภายหลัง ตอน แต่งงานมีรูปคอนโดและสัญญาซื้อขายเป็นหลักฐาน หลังจากแต่ง2เดือนเค้าขอซื้อบ้านในไทยให้เป็นสินสอดหมั้นแทนที่ต่างประเทศ ดิฉันก็ยอมแล้วซื้อบ้าน1หลังพร้อมที่ดิน ต่อมาอีก3ปีเค้าโอนคอนโดที่ต่างประเทศเป็นชื่อสามี ก็ไม่มีปัญหา
อยากเรียนถามว่ากรณีนี้ ที่ดินและบ้านในไทยถือว่าเป็นสินส่วนตัวหรือไม่
คอนโดที่ต่างประเทศเป็นสินสมรสหรือไม่
ถ้าหย่าสามีอ้างบ้านและที่ดินเป็นสินสมรสได้หรือไม่
ขอบพระคุณมากค่ะ

ณัฐ

ณัฐ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

3 ธ.ค. 2555 18:51 #11

ตอบคำถามคุณณัฐ
           ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพื่อจะได้ทราบและเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างสามีภรรยา ได้แก่
           ของหมั้น คือ การที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง ของหมั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้  แต่ต้องเป็นของที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่หญิงในเวลาหมั้นและฝ่ายหญิงรับไว้ หากเพียงแต่สัญญาจะให้แต่ไม่มีการมอบทรัพย์สินให้แก่ฝ่ายหญิงจริงๆ ก็ไม่ถือเป็นของหมั้น ดังนั้น คอนโดที่อยู่ต่างประเทศ เมื่อยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ในเวลาหมั้นจึงไม่ใช่ของหมั้นตามหลักกฎหมายดังกล่าว
          สินสอด หมายความถึงทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบหรือตกลงจะมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเท่านั้น เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส  แต่ไม่จำเป็นต้องมอบให้ในขณะทำสัญญา ต่างกับของหมั้นที่ต้องให้ในเวลาหมั้น ดังนั้น คอนโดที่ตกลงจะมอบให้  จึงถือเป็นสินสอด ไม่ใช่ของหมั้น และเมื่อมีการตกลงซื้อบ้านในประเทศไทยให้แทนคอนโดให้คุณ แต่บ้านที่ซื้อนั้นเป็นการให้แก่คุณ ไม่ได้ให้แก่บิดามารดาของคุณ จึงไม่ถือเป็นสินสอดอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตามการที่สามีตกลงซื้อบ้านให้คุณก็เพื่อตอบแทนการที่คุณยอมสมรสกับสามีข้อตกลงดังกล่าวก็ถือเป็นสัญญาที่ใช้บังคับกันได้ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3442/2526)
          สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
          (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
          (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับ กายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
          (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
          (4) ที่เป็นของหมั้น

          สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว  สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือ เงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
          สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
          (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
          (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
          (3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
          ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
         
สำหรับคำถามขอตอบเรียงลำดับดังนี้


ที่ดินและบ้านในประเทศไทยถือเป็นสินส่วนตัว เพราะเป็นทรัพย์สินอันเนื่องมาจากข้อตกลงเรื่องสินสอด และถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สามียกให้โดยเสน่หา

คอนโดที่ต่างประเทศ หากเป็นทรัพย์สินที่สามีได้มาหรือมีอยู่ก่อนสมรสแล้ว ก็ถือเป็นสินส่วนตัว

หากมีการหย่ากัน หรือฟ้องหย่า สามีอ้างว่าที่ดินและบ้านในประเทศไทยเป็นสินสมรสได้ (อ้างได้ แต่จะได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นเรื่องพิพาทกันในศาลและให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน) โดยต้องเปลี่ยนข้อเท็จจริงใหม่ว่าไม่ใช่การตกลงให้เป็นสินสอด และไม่ใช่เป็นการให้โดยเสน่หา แต่เป็นทรัพย์สินที่ตกลงซื้อเพื่อใช้สำหรับอยู่กินกันระหว่างสามีภรรยาอันมีลักษณะเป็นสินสมรสที่ต้องแบ่งครึ่งเท่ากันเมื่อมีการหย่า หรืออ้างว่าเป็นสินส่วนตัว เพราะได้เอาเงินส่วนตัวที่มีอยู่ก่อนสมรสมาซื้อบ้านและที่ดินทั้งหมดจึงเป็นสินส่วนตัว ไม่ต้องแบ่งครึ่งกัน เป็นต้น

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

22 ธ.ค. 2555 15:31 #12

เรียนถามทนายภูวรินทร์ค่ะ จากที่ดิฉันได้ถามคำถามด้านบน เรื่องสามีชาวเยอรมันฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน เมื่อเดือนที่แล้วดิฉันได้ไปขึ้นศาลตามหมายศาล วันขึ้นศาลสามีได้ขอให้ศาลคุ้มครองทรัพย์สินชั่วคราวก่อนพิพากษา สามีได้สืบพยาน และยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ หลังจากที่ศาลได้พิจารณาจากหลักฐานแล้ว ท่านได้แนะนำให้ดิฉันทำเรื่องประนอมกับสามี อย่างนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ค่ะที่ศาลท่านกำลังพิจารณาให้สามีชนะคดี (เพื่อนบอกดิฉันว่า ศาลแนะนำอย่างนี้ เหมือนกับตัดสินจากหลักฐานแล้วให้สามีชนะคดี แต่ถ้าดิฉันยอมประนีประนอมอาจจะได้ทรัพย์สินบางส่วน) ประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมา ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคำฟ้องของสามีมีมูล ศาลจึงมีคำสั่งให้คุ้มครองทรัพย์สินตามที่สามีขอ
กลางเดือนมกราคม 2556 ดิฉันต้องขึ้นศาลอีกครั้ง (สองวัน) วันแรกเพื่อยื่นหลักฐานว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นการให้โดยเสน่หา และสืบพยาน แล้ววันที่สองถ้าศาลตัดสินให้ดิฉันแพ้คดี สามีดิฉันมีสิทธิ์ในทรัพย์สินบ้านทั้งสองหลังและรถยนต์ทันทีหรือไม่ (ต้องย้ายออกจากบ้านทันทีและคืนรถยนต์ให้สามีทันทีในวันที่ศาลตัดสินเลยหรือเปล่า) และสุดท้ายอยากเรียนถามว่า ถ้าดิฉันยื่นเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์ในขณะที่ทำการยื่นเรื่อง สามีมีสิทธ์นำทรัพย์สินไปขายได้หรือไม่ค่ะ และที่ศาลแนะนำให้ดิฉันทำเรื่องประนีประนอม ดิฉันต้องทำอย่างไรดี
ขอบพระคุณค่ะ
อำไพ

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

23 ธ.ค. 2555 00:11 #13

ตอบคำถามคุณอำไพ
        กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีน่าจะเป็นการห้ามไม่ให้คุณจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่พิพาทกันเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าศาลได้ตัดสินให้สามีชนะคดีไปแล้ว หรือจะพิพากษาให้ชนะคดีต่อไปอย่างแน่นอน เพราะการที่สามีจะชนะคดีหรือไม่ และความจริงจะเป็นการให้โดยเสน่หาตามที่คุณได้ให้การต่อสู้คดีหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งคุณย่อมทราบได้จากการพิจารณาคดีและความจริงที่ทราบดีอยู่ในใจแล้ว
        สาเหตุที่ศาลแนะนำให้สามีภรรยาประนีประนอมยอมความกัน ก็เพื่อให้คู่ความถอยคนละก้าว โดยต่างยอมลดและยอมให้ซึ่งกันและกัน  ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งหมายความว่าจะต้องยอมทั้งสองฝ่ายด้วย ไม่ใช่แต่เพียงฝ่ายเดียว   ถ้าหากคุณเห็นว่ามีพยานหลักฐานที่จะชนะคดีอย่างแน่นอน คุณจะประนีประนอมยอมความหรือไม่ หรือจะต่อสู้คดีต่อไป ย่อมเป็นสิทธิของคุณ  ซึ่งจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวน และเป็นสิทธิของสามีด้วยเช่นกันที่จะยอมความหรือไม่
        แต่เมื่อมีการสืบพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว  คดีอาจเป็นไปได้ทั้งพิพากษาให้ยกฟ้อง หรือพิพากษาให้คืนทรัพย์สินแก่สามีทั้งหมด หรือให้แบ่งฝ่ายละครึ่งเท่ากัน โดยเอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกันก็ได้ ซึ่งกรณีหลังสุดมีความเป็นไปได้สูง ถ้าหากทรัพย์สินนั้นมีการนำเงินที่เป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสบางส่วนไปซื้อมาเพื่อใช้อยู่ร่วมกันระหว่างสามีภรรยา  
        ส่วนกรณีที่ผลการดำเนินคดีปรากฏว่า ศาลพิพากษาให้สามีชนะคดี คุณยังไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่สามีทันที เพราะคดียังสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้อยู่ คดียังไม่ถึงที่สุด แต่หากคุณไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันฟังคำพิพากษา คดีจะถึงที่สุด และถ้าคุณไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ทันที หรือหากคุณอุทธรณ์ก็ต้องยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไปด้วย เพื่อไม่ให้โจทก์ดำเนินการเอาทรัพย์สินไปขายระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ คุณยังสามารถใช้สอยทรัพย์สินไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดและจนกว่าจะมีการบังคับคดีถ้าหากสามีเป็นฝ่ายชนะคดี

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

27 ธ.ค. 2555 14:13 #14

ขอบคุณค่ะสำหรับคำตอบ
ดิฉันขอรบกวนถามอีกครั้งค่ะ ในระหว่างที่ดิฉันและสามีตกลงแยกกันอยู่ ดิฉันได้ทำธุรกิจร้านนวด แต่ไม่ได้ขอความยินยอมจากสามี อย่างนี้จะผิดข้อกฎหมายใดบ้างค่ะ
และถ้าสามีชนะคดีจริง คำขอท้ายฟ้องที่สามีขอศาลให้ดิฉันจ่ายค่าทนาย ค่าล่าม และต่างๆ ประมาณ 200,000 ดิฉันในฐานะแพ้คดี จึงจำเป็นต้องจ่ายคำขอท้ายฟ้องใช่มั้ยค่ะ
ขอบบพระคุณอีกครั้งค่ะ

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

11 ม.ค. 2556 23:31 #15

ตอบคำถามคุณอำไพ
            สวัสดีปีใหม่และขออภัยที่ตอบคำถามล่าช้านะครับ
            การทำงานหรือประกอบธุรกิจของสามีภรรยา ไม่มีกฎหมายบ้ญญ้ติให้ต้องขออนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนแต่อย่างใด ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพได้โดยอิสระครับ เพียงแต่ทรัพย์สินหรือเงินที่ทำมาหาได้มาในระหว่างสมรสดังกล่าวนั้น ถือเป็นสินสมรส เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงต้องแบ่งคนละครึ่งเท่านั้นเอง
            ส่วนคำขอท้ายคำฟ้องดังกล่าวข้างต้น ตามกฎหมายหากศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จะมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เช่น ค่าขึ้นศาล อาจกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่โจทก์ชนะคดี ไม่ใช่ตามคำขอท้ายฟ้อง สำหรับค่าทนายความศาลจะกำหนดให้ตามสมควร แต่ไม่ใช่ตามที่โจทก์จ่ายค่าทนายจริง ๆ ส่วนค่าล่ามไม่ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยผู้แพ้คดีจะต้องรับผิดชดใช้คืน

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

21 ม.ค. 2556 17:50 #16

สวัสดีอีกครั้งค่ะ
ดิฉันได้ส่งคำถามไปที่ e-mail ของทนายค่ะ รบกวนทนายภูวรินทร์ตอบคำถามจาก e-mail ด้วยน่ะค่ะ
ขอขอบพรระคุณค่ะ

อำไพ

อำไพ

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

22 ม.ค. 2556 21:31 #17


  ตอบคำถามคุณอำไพ
          การปรึกษาทนายความเรื่องกฎหมายต่าง ๆ นั้น ก็เหมือนกับการไปหาหมอเพื่อรักษาอาการป่วยไข้ หากบอกอาการเจ็บป่วยไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงกับความจริง หมอย่อมวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน หรือทำการรักษา หรือจ่ายยาไม่ถูกกับโรคที่เป็น โรคภัยไข้เจ็บย่อมกำเริบรักษาไม่หายอาจถึงขั้นชีวาวายได้ ส่วนการปรึกษาหรือขอคำแนะนำกับทนายความ หรือหมอความก็เช่นเดียวกัน หากบอกข้อมูลหรือข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง หมอความย่อมวินิจฉัยรักษาโรคคดีความไม่ถูกต้องเช่นกันครับ คำถามที่ส่งมาทางอีเมลล์ผมจะตอบส่งทางอีเมลล์ต่อไป แต่ในเว็บไซต์นี้จะเผยแพร่ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับโรคคดีความที่เกี่ยวกับคำถามคุณอำไพ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้สนใจต่อไป

          คดีครอบครัว ได้แก่คดีซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งได้แก่  คดีเกี่ยวด้วยการหมั้น ของหมั้น สินสอด, คดีเกี่ยวด้วยการสมรส รวมทั้งสิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาไม่ว่าทางใด ๆ ซึ่งพิพาทกันตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 ทั้งหมด, คดีเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตร ไม่ว่าทางใด ๆ ซึ่งพิพาทกันตาม บรรพ 5,  คดีซึ่งพิพาทกันตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 อันเกี่ยวด้วยสถานะความสามารถของบุคคลอันเกี่ยวกับครอบครัวหรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ตามมาตรา 21-28, 32, 43, 44 และคดีซึ่งพิพาทกันตาม ป.พ.พ. บรรพ 6 อันเกี่ยวกับสถานะและความสามารถของบุคคลอันเกี่ยวกับครอบครัวหรือส่วนได้เสียของครอบครัวตามมาตรา 1610, 1611, 1687 และ 1692
            คดีครอบครัวคู่กรณีหรือผู้ต้องการใช้สิทธิทางศาลจะต้องยื่นฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวประจำจังหวัดที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละศาลกับศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีทั่วไป  

            แนวคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่เคยพิจารณาเป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับเรื่องคดีครอบครัว และที่เกี่ยวกับคำถามคุณอำไพ ได้แก่
            คำวินิจฉัยที่ 1/40 คดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนฯ คือ คดีที่เกี่ยวกับการสมรสรวมทั้งสิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่าง สามี ภริยา พ่อ แม่ ลูก ไม่ว่าในทางใด ๆ ซึ่งพิพาทกันตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 รวมทั้งคดีที่เกี่ยวด้วยสถานะและความสามารถของบุคคลอันเกี่ยวกับครอบครัว, ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ซึ่งพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 21-28, 32, 33, 44, 1610, 1611, 1687, 1692 เป็นคดีครอบครัวทั้งสิ้น
            คำวินิจฉัยที่ 34/40, 35/40, 36/40, ยช.1/41, ยช.18/41, ยช.22/41, ยช.2/42, ยช.16/42, ยช.21/42, ยช.28/42, ยช.4/44, ยช.12/44 ฟ้องให้โอนที่ดินอันเป็นสินสมรส แม้จะเป็นการขอให้บังคับตามข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าก็ถือว่าเป็นคดีครอบครัว เพราะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยาในทางทรัพย์สิน
            คำวินิจฉัยที่ ยช.2/41, ยช.7/41, ยช.6/42, ยช.20/42, ยช.10/44 , ยช.23/44 ฟ้องมีข้อโต้เถียงว่าเป็นสินสมรสหรือไม่ ก็ถือว่าเป็นคดีครอบครัว
            คำวินิจฉัยที่ 5/36,30/40, 32/40, ยช.7/43, ยช.24/44 สามีภริยาฟ้องเรียกสินส่วนตัวจากอีกฝ่ายหรือจากบุตร เป็นคดีครอบครัว
            
            การฟ้องคดีผิดศาลก็เหมือนกับการไปผิดโรงพยาบาล ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียความรู้สึก แต่อย่าได้เสียกำลังใจ และอย่าได้ท้อแท้ครับ ต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง  ขอให้โชคดีครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

จอย

จอย

ผู้เยี่ยมชม

5 เม.ย 2556 09:42 #18

เรียนถามทนายภูวรินทร์ค่ะ
ในกรณีที่สามีทำเรื่องซื้อบ้านและจำนองก่อนแต่งงานและจดทะเบียน โดยทำโดยสามีแต่เพียงผู้เดียว โดยบ้านหลังดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสินสอดด้วย ต่อมาหลังจากจดทะเบียนแล้ว จะไปทำเรื่องขอเพิ่มชื่อภรรยาเป็นเจ้าของร่วมกัน จะต้องเสียอะไรให้กับสำนักงานเขตที่ดินอย่างไรบ้าง

ในกรณีที่ต้องเสียเพิ่ม ทำไมถึงต้องเสีย เนื่องจากการที่คน 2 คน แต่งงานด้วยกันและจดทะเบียนแล้ว ก็ถือว่าเป็นคนๆเดียวกันไม่ใช่หรอค่ะ แล้วก็ไม่ใช่การขายเพื่อเอาผลกำไรแต่อย่างไร ทำไมต้องเสียเงินเพิ่มในกับสำนักงานเขตที่ดินทั้งๆที่ก็เป็นที่ของเราอยู่แล้ว

รบกวนช่วยชี้แจงให้หน่อยคะ
ขอบคุณค่ะ

จอย

จอย

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

8 เม.ย 2556 05:18 #19


ตอบคำถามคุณจอย
               ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าต้องการจดทะเบียนลงชื่อคู่สมรส จึงจะเสียค่าธรรมเนียมประเภทไม่มีทุนทรัพย์ (ไม่ใช่การขาย)
ดูเรื่องการจดทะเบียนลงชื่อคู่สมรส ได้ที่เว็บไซต์กรมที่ดินตามลิงค์นี้http://www.dol.go.th/dol/images/medias/dol/example/lo/smt/handbook/april/news18.htm

ค่าธรรมเนียม
               เรียกเก็บประเภทไม่มีทุนทรัพย์แปลงละ ๕๐ บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ (๗)(ฑ) (ปัจจุบันน่าจะเปลี่ยนแปลงอัตราแล้วต้องสอบถามกรมที่ดินอีกครั้ง)
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
              ไม่ต้องเรียกเก็บ เนื่องจากการเพิ่มชื่อคู่สมรสในเอกสารสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสินสมรส ไม่เป็นการขายตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
อากรแสตมป์
             ไม่มีกรณีที่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
              นอกจากนี้ ก็ดูระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนลงชื่อคู่สมรสในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพ.ศ. ๒๕๒๙

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

จอย

จอย

ผู้เยี่ยมชม

9 เม.ย 2556 16:36 #20

ขอบคุณมากๆค่ะ คุณทนาย....^/^


:h:

จอย

จอย

ผู้เยี่ยมชม

จอย

จอย

ผู้เยี่ยมชม

19 เม.ย 2556 08:38 #21

เรียนถามทนายภูวรินทร์เพิ่มเติมค่ะ

หลังจากที่ได้ติดต่อกับทางสำนักงานเขตที่ดิน พนักงานได้แจ้งว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายจากราคาประเมินกึ่งหนึ่ง ดังนี้ค่ะ
1. ค่าธรรมเนียมการโอน 50 สตางค์
2. ภาษีเงินได้บุคคลฯ 2.5%
3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3%

ถามต่อนะค่ะ ทำไมถึงต้องเสีย ในเมื่อไม่ใช่เป็นการขายเพื่อหวังผลกำไร เป็นเพียงแค่ขอเพิ่มชื่ออีกฝ่ายเท่านั้น อีกทั้งสามีภรรยาก็เสมือนบุคคลเดียวกัน ทำไมต้องมีการจ่ายเพิ่มให้กับทางสำนักงานเขตอีกครั้ง ในเมื่อตอนซื้อขายบ้าน ก็ต้องเสียไปแล้วเต็มจำนวน แบบนี้ทางสำนักงานเขตฯก็รับเงินกันเห็นๆเลย ทั้งๆที่ไม่ได้มีการซื้อขายแต่อย่างใด

รบกวนไขข้อสงสัยให้ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

จอย

จอย

ผู้เยี่ยมชม

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้