ในการกระทำความผิดหมิ่นประมาทที่เป็นเรื่องส่วนตัว กฎหมายไม่ให้พิสูจน์เลย การที่จะพิสูจน์ได้ก็เฉพาะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เช่น พิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น ตามมาตรา 330 “ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”
1. ไม่โต้ตอบ เพราะหากเป็นถ้อยคำตอบโต้หรือย้อนคำกัน เป็นเรื่องต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกันในการทะเลาะโต้เถียงกัน จะถือเป็นถ้อยคำที่เจตนาใส่ความอันเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ได้ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎีกาที่ 3745/2527, 1545/2513)
2. รวบรวมพยานหลักฐาน ได้แก่ บันทึก/ก๊อปปี้ ภาพถ่ายผู้กระทำผิด, ภาพ/คลิปวีดีโอข้อความหมิ่นประมาท, รายชื่อพยานบุคคลที่ยืนยันการทำผิด ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือว่าจ้างทนายความให้ฟ้องคดีต่อศาลโดยตรง ทั้งนี้ ภายในอายุความ 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีจะขาดอายุความ เมื่อร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนแล้ว ก็มีอายุความในการฟ้องคดีภายใน 5 – 10 ปี ตามแต่ฐานความผิด
3. เรียกร้องค่าเสียหาย ในการดำเนินคดีอาญาหมิ่นประมาทผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ส่วนความเสียหายที่แต่ละคนจะเรียกร้องได้มากน้อยเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการหมิ่นประมาท ชื่อเสียงทางสังคม หรือเกียรติคุณของผู้เสียหาย หรือ ผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของแต่ละบุคคล มิใช่ฟ้องไปเท่าไหร่ ศาลจะให้เท่านั้น