คดีที่ดิน
คดีที่ดิน เป็นคดีที่พิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์สินคือที่ดิน หรือตั้งอยู่บนดิน หรือสิทธิเหนือพื้นดิน เช่น การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือสิทธิครอบครอง การรังวัดที่ดิน การบุกรุก การแบ่งกรรมสิทธิ์รวม การแย่งการครอบครอง เรียกคืนการครอบครอง หรือกรณีที่มีการละเมิดสิทธิบนที่ดินด้วย
การฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดิน เช่น ฟ้องคดีผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน, ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดิน, ฟ้องเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดิน, ฟ้องเปิดทางจำเป็น, ฟ้องเปิดทางภาระจำยอม, ฟ้องให้เปิดทางสาธารณะ ฯลฯ
คดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน หากมีการที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล การตั้งรูปคดีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากมีการฟ้องคดีหรือยื่นคำร้องไปโดยไม่ถูกต้องก็อาจทำให้คดีเกิดความเสียหายได้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2564 (มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โดยอ้างว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองในที่ดิน น.ส.3 ก่อนที่มีการออกโฉนด และหลังออกโฉนดแล้ว ผู้ร้องก็ครอบครองเกิน 10 ปี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ร้องได้สิทธิครอบครองและเพิกถอนการออกโฉนดที่ดิน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
ศาลฎีกาพิพากษาว่า คดีไม่มีประเด็นครอบครองปรปักษ์เพราะผู้ร้องอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินตั้งแต่ยังเป็น น.ส.3 ก่อนที่มีการออกโฉนด จึงไม่สามารถอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ แต่ผู้ร้องยังเป็นผู้ครอบครองอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่ผู้คัดค้าน เมื่อมีการออกโฉนดไม่ชอบเพราะไม่ได้ออกให้แก่ผู้ครอบครอง จึงต้องเพิกถอนโฉนดที่ดิน
สรุป แม้จะตั้งรูปคดีผิดไป แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็ยังพิพากษาให้ชนะคดีโดยการเพิกถอนการออกโฉนด