คดีมรดก  


     มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินที่เป็นสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ตาย ซึ่งเรียกว่ากองมรดก

     ดังนั้น หนี้สินจึงเป็นมรดกเช่นกัน แต่กฎหมายกำหนดว่า ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน หมายความว่า กรณีที่เจ้ามรดกมีหนี้สินไว้ก่อนตาย มากกว่าทรัพย์มรดก ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ

     นอกจากนี้ ดอกผลของทรัพย์มรดกที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายไม่ใช่มรดก

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2525 เงินบำเหน็จตกทอด ไม่ใช่มรดกของผู้ตาย  

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 139/2530 สิทธิในเงินบำเหน็จเพื่อสงเคราะห์พนักงานไฟฟ้านครหลวง ไม่ใช่มรดก

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2507 เงินสงเคราะห์เพื่อช่วยงานศพและอุปการะบุตรของผู้ตายโดยเฉพาะไม่ใช่มรดก  
 
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2515 เงินสะสมที่ทางราชการหักเก็บไว้จากเงินเดือนของข้าราชการทุกคนซึ่งจะจ่ายเมื่อข้าราชการออกจากราชการ เป็นมรดก 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2506 เงินทุนสงเคราะห์ (ท.ส.ค.) ของผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟเป็นเงินที่เก็บจากผู้ปฏิบัติงานร้อยละ 5 ของเงินเดือนทุกเดือน ถือว่าเป็นเงินที่ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิอยู่ก่อนแล้ว จึงถือเป็นมรดก ย่อมตกทอดแก่ทายาท
     ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก กฎหมายกำหนดไว้ 2 ประเภท คือ

          ผู้รับพินัยกรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม

          ทายาทโดยธรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง ดังต่อไปนี้

     (1) ผู้สืบสันดาน (บุตรชอบด้วยกฎหมาย, บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม)

     (2) บิดามารดา (บิดาต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายถึงจะมีสิทธิรับมรดก)
     
     (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

     (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

     (5) ปู่ ย่า ตา ยาย
     
     (6) ลุง ป้า น้า อา

     คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายด้วย
     ใครบ้างที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย

     แม้กฎหมายจะกำหนดทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกถึง 6 ลำดับ แต่ไม่ใช่ว่าทุกลำดับจะมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดหรือแต้องแบ่งกัน การรับมรดกจะเป็นไปตามลำดับก่อน-หลัง ทายาทที่อยู่ในลำดับก่อน มีสิทธิได้รับมรดกก่อน ทายาทที่อยู่ลำดับถัดมาจะมีสิทธิได้รับมรดกก็ต่อเมื่อไม่มีทายาทลำดับก่อนหน้าแล้ว (ทายาทลำดับก่อนตัดทายาทลำดับหลัง) เช่น ทายาทลำดับที่ 3 จะได้รับมรดกเมื่อไม่มีทายาทลำดับที่ 1 และ 2 เป็นต้น ยกเว้น ทายาทลำดับที่ 1 คือ ผู้สืบสันดาน จะไม่ตัดทายาทลำดับที่ 2 คือ บิดามารดา ซึ่งหมายความว่า บิดามารดามีสิทธิรับมรดกพร้อมกับผู้สืบสันดานนั่นเอง โดยจะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน เช่น ผู้ตายมีลูก 3 คน มีพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะมีส่วนแบ่งทั้งหมด 5 ส่วน คนละส่วนเท่ากัน
     ผู้ตายมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย จะแบ่งมรดกกันอย่างไร

     
ทรัพย์สินของผู้ตายที่เป็นมรดกนั้น หากได้มาในระหว่างที่เป็นสามีภรรยากัน ถือว่าเป็นสินสมรส จะต้องแบ่งสินสมรสให้แก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน คู่สมรสที่มีชีวิตอยู่จะได้รับจำนวน 50 % ส่วนอีก 50 %

     จะเป็นมรดกของผู้ตาย และคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ก็ยังมีสิทธิได้รับมรดกส่วนนี้อีกด้วย โดยจะได้รับเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับว่าจะรับร่วมกับทายาทของผู้ตายลำดับใด ตาม ปพพ.มาตรา 1635

          มาตรา 1635 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

          (1) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร (ได้รับส่วนแบ่งเท่ากันกับบุตร)

          (2) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) แต่มีทายาทตามมาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
     
          (3) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (4) หรือ (6) และทายาทนั้น ยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตาม มาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม

          (4) ถ้าไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 คู่สมรสที่ยังมี ชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

ตั้งผู้จัดการมรดก

ผู้จัดการมรดก
     เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดกก็จะตกทอดไปยังทายาทตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทันที แต่การที่จะไปรับมรดกนั้น อาจมีเหตุขัดข้องเพราะทรัพย์สินนั้นไปเกี่ยวข้องบุคคลอื่นหรือต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น เงินฝากในบัญชีธนาคาร ที่ดิน รถยนต์  เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้เนื่องจากเกรงว่าจะมีการปกปิดทายาท หรือมีปัญหาฟ้องร้องกันในภายหลัง จึงจำเป็นต้องให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการจัดการมรดกให้เป็นไปตามกฎหมายเสียก่อน
     บุคคลที่จะมีสิทธิในการยื่นคำร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องเป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก เช่น เจ้าหนี้ของผู้ตาย, เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม, สามีหรือภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยอยู่กินด้วยกันมีทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน
     ส่วนบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาท ดังนั้น จึงสามารถยื่นคำร้องขอตั้งบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายคือ ต้องบรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อให้เป็นผู้จัดการมรดกแทนได้
     
     หน้าที่ของผู้จัดการมรดก

     ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีทรัพย์มรดก และทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ ปิดบังมรดก เบียดบังไปเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกให้แก่ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้อีกด้วย
 
     ยื่นขอตั้งผู้จัดการมรดกที่ศาลไหน
 
     การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ต้องยื่นต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย หากผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกนั้นตั้งอยู่ในเขตศาล
 
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8647/2544

     ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก เมื่อ อ. และ ก. เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดมหาสารคามอันเป็นศาลชั้นต้นในขณะที่ถึงแก่ความตาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของบุคคลทั้งสองไว้เพื่อทำการไต่สวนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
     แม้ผู้ร้องอาจใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกของ ป. เป็นอีกคดีหนึ่งได้ที่ศาลจังหวัดหนองคาย อันเป็นศาลที่ ป. มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงเบื้องต้นปรากฏจากคำร้องขอว่า เจ้ามรดกทั้งสามราย คือ อ. ก. และ ป. มีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน คือ ที่ดิน น.ส. 3. ซึ่งตั้งอยู่จังหวัดมหาสารคามโดยเจ้ามรดก 2 ราย คือ อ. และ ก. มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดมหาสารคาม ในขณะที่ถึงแก่ความตายย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าวมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่พิจารณารวมกันได้ ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของ ป. ผู้ตายต่อศาลจังหวัดมหาสารคาม โดยอาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 5 ได้

1. สำเนาใบมรณบัตร หรือหนังสือรับรองการตายของผู้ตาย และทายาททุกคนที่เสียชีวิตแล้ว

2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตายที่เจ้าหนาที่ประทับว่า "ตาย" แล้ว

3. สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและทายาททุกคนที่มีชีวิตอยู่

4. ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า ของสามีภรรยาของผู้ตาย

5. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล  

6. สูติบัตรของบุตรกรณียังไม่บรรลุนิติภาวะ

7. พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี)

8. หนังสือให้ความยินยอมของทายาททั้งหมด หากไม่ให้ความยินยอม ต้องส่งสำเนาคำร้องเพื่อใช้สิทธิคัดค้าน

9. บัญชีเครือญาติที่ถูกต้องตามความจริง

10. ต้นฉบับเอกสารทรัพย์สินที่ต้องจัดการ เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส. 3, สมุดเงินฝาก, ทะเบียนรถ ฯลฯ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้