Last updated: 19 ต.ค. 2566 | 37263 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อแตกต่างระหว่างการ “ดูหมิ่น” กับ “หมิ่นประมาท”
1. ดูหมิ่น คือ การดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท ด่าทอ ทำให้อับอาย เป็นการประทุษร้าย
ต่อเกียรติที่บุคคลมีอยู่ในตัวเอง โดยผู้ดูหมิ่นลดคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของผู้ถูกดูหมิ่นด้วยตนเอง เป็นความผิดลหุโทษมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 “ผู้ใด ดูหมิ่น ผู้อื่นซึ่งหน้า หรือ ด้วยการโฆษณาต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
การด่าหรือสบประมาทว่าเป็นคนต่ำต้อยหรือเลว บางกรณีเป็นเพียงคำพูดที่ไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ใช่เป็นคำด่าหรือเป็นการสบประมาทเหยียดหยามให้ได้รับความอับอาย ซึ่งก็ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551 การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้อง พิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
2. หมิ่นประมาท คือ 1.การใส่ความผู้อื่น 2.ต่อบุคคลที่สาม 3.โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่น
นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เป็นการประทุษร้ายต่อเกียรติที่บุคคลมีอยู่ในสังคม โดยผู้หมิ่นประมาททำให้บุคคลที่สามเป็นผู้ลดคุณค่าที่มีอยู่ในสังคมของผู้ถูกหมิ่นประมาท ซึ่งการใส่ความจะต้องโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดด้วยการโฆษณาก็จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท
ตามพจนานุกรมฯ คำว่า “ใส่ความ” หมายถึงพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ส่วนทางกฎหมายคำว่า “ใส่ความ”หมายถึงการยืนยันข้อเท็จจริง หรือกล่าวยืนยันความจริง หรือความเท็จ หรือเอาเรื่องไม่จริงไปแต่งความใส่ร้าย หรือเอาเรื่องจริงไปกล่าว ก็เป็นความผิด เรียกว่า ยิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาทหรือแม้แต่การเล่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาไปพูดให้บุคคลอื่นฟังก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้สำหรับข้อความจะเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไป มิใช่พิจารณาถึงความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว
การกล่าวข้อความที่ไม่ได้ระบุชื่อผู้อื่นที่จะเป็นความผิดนั้นจะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ จึงจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนการกล่าวถึงผู้หนึ่งผู้ใดในกลุ่มบุคคลโดยไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงผู้ใดโดยเฉพาะ และถ้อยคำที่กล่าวไม่อาจเข้าใจได้ว่าหมายถึงผู้ใด จึงไม่เป็นหมิ่นประมาท
ส่วนข้อเท็จจริงที่จะเป็นหมิ่นประมาท หรือการใส่ความนั้นพอจะสรุปตามแนวคำวินิจฉัยศาลฎีกาได้ดังนี้ ต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นคำหยาบ หรือเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้, ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอนไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คลุมเครือ หรือเลื่อนลอย หรือกล่าวด้วยความน้อยใจ, ข้อเท็จจริงที่กล่าวนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันในอดีต หรือปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงการคาดคะเน หรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต แต่กรณีแสดงความคิดเห็นบางอย่างแม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นในอนาคต แต่หากฟังแล้วทำให้เข้าใจว่าในปัจจุบันเป็นเช่นไร ก็ย่อมเป็นหมิ่นประมาทได้
ข้อความที่จะเป็นการจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องเป็นข้อความที่ทำให้เขาเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อาทิเช่นเป็นการใส่ความเกี่ยวกับความประพฤติ, เป็นการใส่ความเกี่ยวกับเรื่องประเวณี หรือการอันไม่สมควรทางเพศ, เป็นการใส่ความเกี่ยวกับหน้าที่การงาน หรือเป็นการกล่าวถึงความไม่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทางการเงิน เป็นต้น
+++ตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานว่าเป็นการใส่ความ และเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เช่น
+คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503 จำเลยได้รับคำบอกเล่าจากญาติของโจทก์ว่า โจทก์รักใคร่กับชายในทางชู้สาว นอนกอดจูบและได้เสียกัน ต่อมามีผู้ถามจำเลยถึงเรื่องนี้ จำเลยก็เล่าตามข้อความที่ได้รับบอกเล่ามาเช่นนี้ถือว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยมีความผิดตามมาตรา 326
+คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2537 หัวข้อข่าวที่ว่า แอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์เจ้าของร้านฟ้องศาลเรียกหนี้ 1 ล้าน คำว่าเบี้ยวมีความหมายพิเศษเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าหมายถึง ไม่ซื่อตรงหรือโกง หมายถึง แอมบาสเดอร์ไม่จ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์ เพราะไม่ซื่อตรงหรือโกง เจ้าของร้านฟ้องศาลเรียกหนี้ 1 ล้านบาท และหัวข้อข่าวดังกล่าวเป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์เอง ประกอบกับข้อความในเนื้อข่าวเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
+คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2371/2522 จำเลยพูดถึงผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอว่ากระหรี่ที่ดิน คำว่า "กระหรี่" หมายความว่าหญิงนครโสเภณีหรือหญิงค้าประเวณี แม้จำเลยจะไม่ได้กล่าวรายละเอียดว่าค้าประเวณีกับใครประพฤติสำส่อนในทางเพศกับใครบ้างก็เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำหมิ่นประมาทแล้ว
จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การหมิ่นประมาทไม่ใช่การด่ากัน แต่เป็นการใส่ความผู้อื่น ทั้งเรื่องจริงและไม่จริง
+++ตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานว่าไม่เป็นการใส่ความ และไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เช่น
+คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2506 ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า โจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำโจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทองไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
+คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องเป็นการแสดงข้อความให้คนฟังคนเห็นเชื่อ จึงจะเกิดความรู้สึกเกลียดชังดูหมิ่นขึ้นได้ จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นผีปอบ เป็นชาติหมา ตามความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดา ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นได้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นแต่อย่างใด และข้อความใดจะเป็นการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ต้องถือตามความคิดของบุคคลธรรมดาผู้ได้ฟัง คำกล่าวของจำเลยข้างต้นไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท
+คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10189/2546 ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า“โจทก์ร่วมเป็นบุคคลวิกลจริตไม่สามารถทำงานได้เป็นคนบ้าเหมือนหมาบ้า” นั้น เป็นถ้อยคำที่เลื่อนลอยไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งเมื่อฟังประกอบข้อความตอนท้ายที่ว่า “และยังได้นำใบ ร.บ. (ระเบียนการศึกษา) ไปจำหน่ายให้กับนักเรียนด้วย”แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มุ่งหวังให้บุคคลอื่นเชื่อว่าโจทก์ร่วมเป็นบุคคลวิกลจริต ถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่ทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น แสดงว่า การกล่าวข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ผีปอบหรือชาติหมา ย่อมไม่ทำให้คนเชื่อ ไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นได้ ย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
*********************************************************
หากคุณมีปัญหาและต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมาย เพิ่มเติม
ติดต่อได้ที่ ทนายภูวรินทร์ ทองคำ โทร.081-9250-144
E-Mail : Phuwarinlawyer@hotmail.com
http://www.phuwarinlawyer.com/
27 ก.พ. 2560
5 มี.ค. 2560
6 เม.ย 2560