ศุภชัย

ศุภชัย

ผู้เยี่ยมชม

  ข้อสอบถาม ครับ (1399 อ่าน)

28 เม.ย 2560 12:14

ผม ทำงาน ตั้งแต่ 1 / 11/ 59 - 25/4/2560 เป็น เวลา 176 วัน ( บริษัทยังไม่ผ่านทดลองงาน ) ผมเลยขอแจ้ง ลาออก วันที่ 26 / 4/ 2560 ให้มีผล วันที่ 26 / 5/ 2560. ( แจ้งล่วงหน้า 30 วัน ตามกฏบริษัท ) แต่ ทาง บริษัท ให้ มี ผลทันที วันที่ 27/ 4 /2560 ขอ สอบถาม กรณีนี้ เข้าข่าย นายจ้างเลิกจ้างไหม ครับ ? และ จะได้ ค่าบอกเล่ากล่าว หรือค่าชดเชย ไหม ?

ศุภชัย

ศุภชัย

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

20 พ.ค. 2560 17:18 #1

              การที่จะได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายจะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างเท่านั้น กรณีตามคำถามเมื่อคุณยื่นลาออกแล้ว ไม่สามารถถอนการแสดงเจตนาลาออกได้และการยื่นใบลาออกมีผลทันที ซึ่งแม้นายจ้างจะให้ออกก่อนวันที่กำหนดในใบลาออก ก็ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง เพียงแต่คุณอาจมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างเท่ากับวันที่ประสงค์จะให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเท่านั้น ซึ่งก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
          กรณีของคุณเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10161/2551
          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2543 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างเริ่มทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายสาขา จนกระทั่งสุดท้ายทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติงานระหว่างประเทศ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 75,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 225,000 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 77,500 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายและโจทก์มีความประสงค์จะกลับเข้าทำงานกับจำเลยต่อไป หากไม่อาจกลับเข้าทำงานได้ขอคิดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 4,500,000 บาท และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ของวันที่ 1 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 เป็นเงิน 57,500 บาท กับจำเลยไม่ออกใบสำคัญแสดงการทำงานเป็นภาษาอังกฤษให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมโดยนับระยะเวลาการทำงานต่อ และจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 57,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่อาจกลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 225,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 77,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ 4,500,000 บาท และให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานเป็นภาษาอังกฤษให้โจทก์ 1 ฉบับ
          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ขอลาออกจากงานเองโดยเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2545 โจทก์ส่งอีเมลขอลาออกต่อนายลารส์ และนายแดน ผู้บังคับบัญชาโจทก์ว่าประสงค์จะลาออกจากงาน นายมาร์คัส หัวหน้างานโจทก์เสนอให้โจทก์ทำงานต่ออีก 1 เดือน โจทก์ยินยอม จำเลยตกลงให้โจทก์ทำงานต่อโดยให้มีผลเป็นการลาออกตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 โจทก์มีปากเสียงกับนายมาร์คัส เป็นผลให้มีการตกลงระหว่างกันว่าโจทก์จะลาออกในวันดังกล่าวก่อนกำหนดเดิม แต่ยังได้รับค่าจ้างทั้งเดือนกรกฎาคม 2545 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหาย สำหรับค่าจ้างเดือนกรกฎาคม 2545 จำเลยไม่ได้จงใจผิดนัด โดยจำเลยจ่ายเป็นเช็คจำนวนเงิน 66,050 บาท (หักภาษีแล้ว) ฝากเข้าบัญชีของโจทก์แต่บัญชีของโจทก์ปิดแล้ว จำเลยจึงออกเช็คฉบับใหม่ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับเองจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม ส่วนใบสำคัญแสดงการทำงานของโจทก์ จำเลยพร้อมจะออกให้ทันทีเมื่อโจทก์แสดงความจำนง ขอให้ยกฟ้อง
          ระหว่างพิจารณา โจทก์รับเงินค่าจ้างที่จำเลยนำมาวางศาลจำนวน 66,050 บาท (หักภาษีแล้ว) และจำเลยรับว่าจะออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้โจทก์ โจทก์ขอสละสิทธิเรียกร้องเรื่องค่าจ้างค้างจ่ายและใบสำคัญแสดงการทำงาน
          ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 โดยให้มีผลวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 การลาออกของโจทก์จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานซึ่งหลังจากโจทก์แสดงเจตนาลาออกต่อจำเลยแล้ว โจทก์ไม่อาจถอนเจตนานั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง และไม่มีกฎหมายกำหนดว่าจะมีผลต่อเมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องอนุมัติเสียก่อน ดังนั้น การลาออกของโจทก์จึงมีผลตามวันเวลาที่โจทก์กำหนดไว้ทันทีนับแต่วันแสดงเจตนา ส่วนการที่จำเลยจะให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะลาออกจริงดังที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ ก็มิใช่การเลิกจ้าง เพียงแต่เป็นการให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามที่โจทก์แสดงเจตนาเท่านั้น และจะเสียหายเช่นใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
          มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 2.1 ตอนท้าย และข้อ 2.2 ตามที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับไว้พิจารณาว่า การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะลาออกเป็นการเลิกจ้างอันมีผลทำให้จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือโจทก์ลาออกจากงานเองต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในขณะที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานนั้นเองว่าเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ มิใช่เอาการแสดงเจตนาของโจทก์แต่เดิมมาเป็นเกณฑ์วินิจฉัยตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง เห็นว่า การที่โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 โดยให้มีผลวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 ย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติการเลิกสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวจึงมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ และหลังจากโจทก์แสดงเจตนาลาออกต่อจำเลยแล้ว ก็ไม่อาจถอนเจตนานั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสองดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมจะมีผลสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 อันเป็นผลมาจากการแสดงเจตนาลาออกของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว แม้จำเลยจะให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันดังกล่าวตามที่โจทก์ประสงค์โดยโจทก์ไม่มีความผิดก็ตาม ก็มีผลทำให้โจทก์เสียหายเพียงเท่าที่ไม่ได้รับค่าจ้างจนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะออกเท่านั้น ซึ่งในระหว่างพิจารณาจำเลยก็นำค่าจ้างของวันที่ 1 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วมาวางศาลและโจทก์รับค่าจ้างดังกล่าวไปแล้วโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าไม่ถูกต้องการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะลาออกจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างอันมีผลที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว”
          พิพากษายืน
  

ทนายภูวรินทร์  081-9250-144

ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้