Pinggy
เรียนปรึกษาค่ะ (1464 อ่าน)
24 ส.ค. 2557 14:38
คุณพ่อ ถูกบริษัทฟ้องคดียักยอกทรัพย์ ประมาณ 35,000บาท มีนัดจากทางอัยการอีกวันที่29/8/2557 ให้ไปพบ แต่ไม่มีเงินก้อนไปชำระ จึงคิดว่าจะขอผ่อนผันที่ศาล แต่ จนท. แจ้งต้องมีหลักทรัพย์หรือเงินประกัน ประมาณ 40,000 บาท หรือต้องมีบุคคลรับราชการมาประกันตัวให้ จริงหรือไม่คะ คำถามนะคะ 1. ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีหลักทรัพย์ ไม่มีบุคคลราชการค้ำ จะติดคุกเลยหรือไม่ 2.ถ้าหากใช้บุคคลค้ำ จะต้องมีเอกสารใดบ้าง ไม่มราบรายละเอียดเลย ร้อนใจมากค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
Pinggy
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
1 ก.ย. 2557 20:45 #1
ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ตอบคำถามล่าช้า เนื่องจากช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาติดภารกิจคดีศาลต่างจังหวัดไม่สะดวกในการตอบคำถามครับ
ตามคำถามคดียักยอก ใช้หลักทรัพย์ในการปล่อยชั่วคราวต่ำสุดประมาณ 4 หมื่นบาท แต่หากยอดเงินที่ยักยอกไปมีจำนวนสูงกว่าอัตราประกัน ก็อาจต้องใช้หลักทรัพย์ในราคาหนึ่งในสามของเงินที่ยักยอกไป
กรณีพ่อคุณเงินที่ยักยอกไปมีจำนวนน้อย ประกอบกับโทษจำคุกไม่เกินสามปี ก็อาจยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักประกันก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 110 “ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้อง มีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้
ในคดีอย่างอื่น (โทษต่ำกว่าห้าปี) จะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้”
กรณีไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์ประกันตัว และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน ก็จะถูกนำตัวไปคุมขังระหว่างพิจารณาคดีครับ
ส่วนการใช้หลักทรัพย์เป็นประกัน ได้แก่
1. เงินสด
2. ที่ดินมีโฉนด หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือน.ส. 3 ก.)ซึ่งมีหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดินและไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี (จำนอง)
3. ห้องชุดมีโฉนดที่ดินและมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และต้องไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี
4. หลักทรัพย์อย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ออมสินสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร กรมธรรม์ประกันภัย
สำหรับการใช้บุคคลเป็นประกัน (ตำแหน่ง) นั้น มีเงื่อนไขดังนี้
- เป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานของรัฐประเภทอื่น ๆ รวมถึงลูกจ้างของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัทเอกชน
- เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติ พี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือบุคคลอื่นที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้
- อัตราหลักประกัน ให้ทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่า ของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน หากวงเงินประกันมียอดสูงกว่าวงเงินที่ผู้นั้นมีสิทธิประกันได้ ศาลอาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมให้เพียงพอ กับวงเงินประกันหรืออาจให้มีผู้ขอประกันหลายคนร่วมกัน ทำสัญญาประกันโดยใช้วงเงินของแต่ละคนรวมกันได้
หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอประกันตัวต่อศาล
- บัตรประจำตัวประชาชน บัตรข้าราชการ หรือบัตรแสดงตำแหน่งหน้าที่การงาน ทะเบียนบ้านของจำเลยและผู้ขอประกันพร้อมสำเนา
- หลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน เช่น เงินสดโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการ ทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สมุดเงินฝากประจำพร้อมสำเนา
- หนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้าง (กรณีขอประกันตัวด้วยตำแหน่งหน้าที่)
- หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินจากสำนักงานที่ดิน (กรณีใช้โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นประกัน)พร้อมสำเนา
- หนังสือรับรองจากธนาคาร (กรณีใช้สมุดเงินฝากประจำเป็นประกัน)
- หนังสือยินยอมของคู่สมรส (กรณีผู้ขอประกันมีคู่สมรส)
ทนายภูวรินทร์ 081-9250-144
ผู้ดูแล