พ่อม่ายเมียตาย
จะผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ (1007 อ่าน)
20 พ.ย. 2553 21:52
ภรรยาของกระผมก่อนที่จะเสียชีวิตเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่หลายแสนบาท พอเธอตายไปแล้วพวกเจ้าหนี้ต่างก็โทรมารุมทวงเอากับผม บางรายถึงกับบอกมาว่ากระผมต้องรับผิดชอบใช้หนี้แทน หากไม่ใช้เขาจะฟ้องกระผม ก็ภรรยากระผมตายไปไม่ได้มีทรัพย์สินมรดกอะไรเลย เงินต่างๆไม่ว่าจะเงินสินไหมทดแทนหรือเงินที่ทางราชการ ( เธอเป็นข้าราชการ ) จ่ายให้มาเธอก็ยกให้ลูกทั้งหมด และลูกก็ยังเรียนอยู่ทั้งสองคน ความจริงกระผมเคยเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลายว่ากระผมจะใช้หนี้แทนให้ภรรยา แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องลดหย่อนลงมาบ้างเพราะจะให้ใช้ทั้งหมดกระผมคงไม่ไหว บางรายเขาก็ยอม หลายรายจะเอาเต็มๆ กระผมจึงมีปัญาอยากที่จะกราบเรียนถามอีกคือตัวกระผมเองก็เป็นหนี้อยู่เป็นแสนเมือนกัน ตั้งแต่ภรรยาตายลงไปฐานะมันก็ชักจะแย่ๆลงเพราะกระผมต้องรับภาระเพียงคนเดียว ยิ่งตอนนี้ตกงานด้วยรายได้ก็ไม่มีแต่กระผมยังเหลือรถกะบะอยู่อีกหนึ่งคัน รถมอร์เตอร์ไซด์อีกหนึ่งคัน มีชื่อกระผมเป็นเจ้าของทั้งสองคัน แม้กระผมจะซื้อเองและมีชื่อของกระผมเป็นเจ้าของก็จริง แต่กฎหมายก็ถือว่าเป็นสินสมรสใช่ไหมครับมันก็เลยเป็นปัญหาว่า หากตอนนี้ ตอนที่เจ้าหนี้เขายังไม่ได้ฟ้องศาล ( มีแต่หนังสือทวงหนี้และขู้ว่าจะฟ้องหากไม่ใช้หนี้ ) ถ้ากระผมจะต้องขายรถกะบะรถมอรเตอร์ไซด์ของกระผมเพื่อที่จะใช้หนี้ ( ในส่วนหนี้ของกระผมเอง ) และเพื่อเป็นต่าใช้จ่ายตามปกติภายในครอบครัว กระผมจะมีตวามผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ กราบขอบพระคุณครับ
พ่อม่ายเมียตาย
ผู้เยี่ยมชม
ทนายภูวรินทร์
21 พ.ย. 2553 19:19 #1
หลักกฎหมายอ้างอิง
ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
การกระทำที่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น จะต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ดังนั้น หากท่านขายรถยนต์กะบะ รถจักรยานยนต์เพื่อที่จะใช้หนี้ส่วนของคุณ และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามปกติภายในครอบครัว ไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ การกระทำของท่านก็ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ครับ
ส่วนการฟ้องเพื่อให้ชำระหนี้บัตรเครดิตนั้น เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดชำระเงินหรือใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้าย มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความครับ นอกจากนี้ หากเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปีด้วยครับ ไม่ว่าหนี้นั้นจะมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปีก็ตาม
สำหรับกรณีที่ท่านจะขายทรัพย์สินอะไร ก็ต้องเก็บหลักฐานไว้ให้ดี เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง หรือประกอบการต่อสู้คดีซึ่งอาจจะมีขึ้นในภายหน้าครับ
ทนายภูวรินทร์
ผู้ดูแล