ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

  การทำพินัยกรรม (1988 อ่าน)

23 มิ.ย. 2553 22:04

พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือ ในการต่าง ๆ ของผู้ทำพินัยกรรม หรือเป็นคำสั่งครั้งสุดท้าย เพื่อที่จะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย โดยทำแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้
รูปแบบของพินัยกรรมนั้น มี 5 แบบ ดังนี้
[1] พินัยกรรมแบบธรรมดา
          1. ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้
          2. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น
          3. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
          4. พยานสองคนนั้นก็จะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นด้วย
          5. การขูด ลบ ตกเติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ในขณะที่ขูด ลบ ตกเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ได้ลงวัน เดือน ปี และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อ
[2] พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
           1. ต้องทำเป็นเอกสารเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับจะพิมพ์ไม่ได้
           2. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น
           3. ต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือแกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นไม่ได้
           4.การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้
[3] พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
           1. ผู้ทำพินัยกรรม ต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่นายอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
           2. นายอำเภอจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบแล้วนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้น ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
           3. เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่าข้อความที่นายอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
          4. ข้อความที่นายอำเภอจดไว้นั้น ให้นายอำเภอลงลายมือชื่อ และลงวัน เดือน ปี จดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
         5. การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และนายอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
[4] พินัยกรรมทำแบบเอกสารลับ
          1. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
          2. ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรม แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
         3. ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้น ไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอย่างน้อย 2 คน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดนั้นเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
         4. เมื่อนายอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวัน เดือน ปี ที่นำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้น และประทับตราประจำตำแหน่งแล้ว ให้นายอำเภอ ผู้ทำพินัยกรรม และพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
         5. การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
[5] พินัยกรรมทำด้วยวาจา
          1. ต้องมีพฤติการณ์พิเศษเป็นเหตุให้ไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม
          2. ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
          3. พยานทั้งสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอโดยมิชักช้า และแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นให้นายอำเภอทราบถึงข้อความเหล่านี้ด้วย
        4.ให้นายอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งไว้ และพยานทั้งสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ ถ้าลงลายมือชื่อไม่ได้จะลงลายพิมพ์นิ้วมือ โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนก็ได้
        5. ความสมบูรณ์แห่งพินัยกรรมนี้ย่อมสิ้นไป เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่เวลาผู้ทำพินัยกรรมกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้

**************************************************************************

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

Faiamorn

Faiamorn

ผู้เยี่ยมชม

26 ส.ค. 2553 23:28 #1

ฝ้ายขอถามคุณทนายภูวรินทร์ค่ะ เรื่องลำดับการสืบทอดมรดก พอดีว่าคุณตาเพิ่งเสียไป คุณตากับคุณยายมีลูก 2 คนค่ะ คือแม่ของฝ้ายและคุณน้าอีกคน(ซึ่งน้ายังไม่ได้แต่งงานแต่มีแฟนน้าซึ่งคบกันมานานแล้ว..แต่ไม่แน่ใจว่าเค้าจดทะเบียนกันแล้วหรือยัง)
แม่และพ่อฝ้ายมีลูกเพียงคนเดียวคือฝ้าย ..(ปัจจุบันพ่อแม่ฝ้ายเกิดอุบัติเหตุและเสียไปนานแล้ว) คุณยายเสียไปนานแล้ว .
ดังนั้นทรัพย์สมบัติ ที่ดินจะต้องให้น้า แล้วต้องแบ่งให้ฝ้ายด้วยไหมคะ แล้วจะต้องทำอย่างไรบ้างคะ ..แล้วแฟนของน้ามีสิทธิ์
ในมรดกทรัพย์สินไหมคะ (ปัจจุบันฝ้ายอายุ 27 ปีค่ะ) .. แล้วต้องดำเนินการจัดการทรัพย์สินอย่างไรบ้างคะ
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

Faiamorn

Faiamorn

ผู้เยี่ยมชม

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

29 ส.ค. 2553 22:09 #2

สวัสดีครับคุณฝ้าย  ก็ขอแสดงความเสียใจในการจากไปของคุณตาด้วยนะครับ
     ตามกฎหมายเมื่อคุณตาตาย มรดกของคุณตาก็จะตกทอดแก่ทายาทของคุณตา โดยกองมรดกของคุณตาก็ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของคุณตา ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เช่น ความเป็นเจ้าหนี้ และลูกหนี้บุคคลอื่น เป็นต้น ในส่วนที่เป็นหนี้สินนั้น ทายาทไม่ต้องรับผิดชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนเองได้รับนะครับ ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าต้องรับผิดชดใช้หนี้สินแทนเจ้ามรดกด้วยนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนะครับ

สำหรับลำดับการรับมรดกนั้นกฎหมายกำหนดไว้มี 6 ลำดับเท่านั้นครับ และแต่ละลำดับก็มีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังกันดังนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

            ทายาทลำดับก่อนก็จะตัดสิทธิทายาทลำดับถัดไปครับ ยกเว้นทายาทลำดับบิดามารดาของเจ้ามรดกที่ยังมีชีวิตนั้น กฎหมายบัญญัติให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร คือ ได้รับเป็นส่วนเท่ากันครับ

             ดังนั้น มรดกของคุณตาจะตกได้แก่ แม่คุณฝ้าย และน้าครับโดยได้รับเป็นส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน แต่สำหรับกรณีของคุณฝ้ายซึ่งพ่อกับแม่ได้เสียชีวิตไปก่อนคุณตานั้น กฎหมายกำหนดให้คุณฝ้ายเข้ารับมรดกแทนที่คุณแม่ได้ครับ คือคุณฝ้ายมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันกับคุณน้า  การจัดการมรดกต้องเป็นไปตามนั้นเลยครับ
             ส่วนคำถามที่ว่า แฟนของน้ามีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยหรือไม่นั้น ตอบว่าไม่มีสิทธิได้รับมรดกของคุณตาครับ เพราะแฟนน้าไม่ใช่ทายาทแต่อย่างใด  แต่เมื่อคุณน้ารับส่วนแบ่งมรดกของตนไปแล้ว หากต่อมาน้าเสียชีวิต และแฟนคุณน้า ซึ่งจะต้องเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณน้าเท่านั้น ก็มีสิทธิได้รับมรดกของน้าครับ กรณีมรดกของคุณตานั้นแฟนน้าไม่มีสิทธิครับ

ทนายภูวรินทร์

ทนายภูวรินทร์

ผู้ดูแล

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้