(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่าย ที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง
ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกิน 1 ปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี
โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้
กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2525
จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 มาก่อนที่จะสมรสกับโจทก์ เมื่อจำเลยสมรสกับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และยกย่องเป็นภรรยาอย่างออกหน้า ดังนี้ โจทก์ฟ้องหย่าได้ และเหตุหย่าในกรณีนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนตามป.พ.พ. ม.1523 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2561
แม้จะฟังได้ว่าข้อกล่าวหาของโจทก์เป็นเหตุหย่าตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518
โจทก์นำ จ.มาอยู่ในบ้านโจทก์และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจนมีบุตรด้วยกัน 1 คน โดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้อภัยในการกระทำของโจทก์ จำเลยจึงมีเหตุฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา1516 (1)
เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ทั้งจำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรโดยโจทก์เคยให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่าย การที่โจทก์หย่ากับจำเลยทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2561
การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องมีความรักและหึงหวงสามีอันเป็นสิทธิของจำเลยย่อมกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ถูกดำเนินการทางวินัยแต่อย่างใด การที่จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ส. เป็นอีกคดีหนึ่งจนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. ชำระค่าทดแทนแก่จำเลย 500,000 บาท ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวเพื่อไม่ให้ ส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันจะทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว แม้จำเลยจะเป็นผู้ออกจากบ้านพักโจทก์ไปก็เพราะโจทก์เปลี่ยนกุญแจบ้านทำให้จำเลยกลับเข้าไปในบ้านไม่ได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ ทั้งพฤติกรรมของโจทก์ก็เป็นฝ่ายไปยกย่องหญิงอื่นคือ ส. เป็นภริยา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)
ส่วนที่จำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วจิ้มที่หน้าอกและยันที่หน้าอกของ ท. มารดาของโจทก์ 1 ครั้ง การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรเยี่ยงบุตรสะใภ้พึงปฏิบัติต่อมารดาของสามีเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559
จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า "กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที" และ "กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย..." และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า "เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา" เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) ส่วนการที่โจทก์ไม่กลับบ้านนานนับสัปดาห์ ไม่ยอมหลับนอนกับจำเลย ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่ด้วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่อุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. 1516 (6) เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4402/2558
จำเลยเรียกโจทก์ว่า บักหลอย บักหน้าส้นตีน เป็นเพียงคำไม่เหมาะสมที่ภริยาจะใช้เรียกสามีต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยจะต้องปรับปรุงตนไม่ใช้คำดังกล่าวกับสามีอีกต่อไป ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง
ส่วนที่จำเลยเรียกมารดาโจทก์ว่าอีแก่นั้น คำว่า "อี" เป็นคำประกอบหน้าชื่อผู้หญิงที่มีฐานะต่ำกว่า หรือเป็นคำใช้ประกอบหน้าชื่อผู้หญิงแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยาม สำหรับคำว่า "แก่" มีความหมายว่ามีอายุมาก คำว่า "อีแก่" จึงเป็นคำไม่สุภาพและไม่เหมาะสมที่จำเลยในฐานะบุตรสะใภ้จะใช้เรียกมารดาของสามี แต่ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามมารดาโจทก์อย่างร้ายแรง ยังไม่พอฟังว่า จำเลยเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3 )
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2564
การที่จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน ถือได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) การที่จำเลยพาโจทก์และบุตรทั้งสามไปเที่ยวพักผ่อนค้างคืนด้วยกันเป็นเพียงการดูแลให้ความอบอุ่นแก่บุตรตามสมควรเท่านั้นยังไม่เพียงพอให้ถือว่าเป็นการที่โจทก์ได้ให้อภัยจำเลยในเหตุที่โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 โจทก์มีอาชีพรับราชการถือว่าเป็นอาชีพมั่นคงมีรายได้แน่นอน ส่วนจำเลยมีอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาลถือเป็นอาชีพมีรายได้ไม่มั่นคงเท่ากับโจทก์ ประกอบกับได้ความว่าโจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่อยู่กับโจทก์ในทุกเรื่อง ทั้งยังอุปการะดูแลชำระค่าเล่าเรียนและให้ค่าใช้จ่ายรายวันแก่บุตรอีกคนซึ่งอยู่กับจำเลยด้วย บุตรที่อยู่กับโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะส่อไปในทางไม่เหมาะสม ส่วนบุตรที่อยูในความดูแลของจำเลยกลับมีอุปนิสัยเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าวเอาแต่ใจ และขาดเรียนบ่อยครั้ง นอกจากนี้การให้บุตรทั้งสองซึ่งเป็นพี่น้องกันได้อยู่ใกล้ชิดร่วมกัน รวมทั้งได้อยู่กับมารดาและพี่สาวซึ่งเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ก่อนน่าจะเป็นผลดียิ่งกว่า จึงเห็นควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองเพียงผู้เดียว แต่จำเลยซึ่งเป็นบิดายังคงมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1584/1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1644/2537
จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4) แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตลอดมาและได้เลิกยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นแล้วก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องหย่าจำเลยสิ้นไปแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11702/2555
เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1) ที่ว่า "สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้" ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยต้องโทษจำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี หากจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรเพราะเหตุจำเลยต้องถูกจำคุกอีกต่อไป เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/1) ได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน 1 ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี ดังนั้นความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2670/2556
พฤติการณ์ที่จะเข้าเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) นั้น นอกจากสามีภริยาต้องสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน 3 ปี แล้ว ยังต้องเป็นการแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติด้วย
โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อความตกลงประนีประนอมยอมความกันว่า ไม่ประสงค์จะร่วมชีวิตฉันสามีภริยากันอีกต่อไปจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกิน 3 ปี แล้ว แต่เหตุที่โจทก์จำเลยไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกตินั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่นำสืบถึงเหตุทะเลาะ แต่โจทก์กลับรับว่า จำเลยไม่เคยประพฤติเสียหายหรือประพฤติชั่วอันจะเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ทางนำสืบของจำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์ติดพันหญิงอื่นมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินกับจำเลยและไปจากภูมิลำเนาเสียเอง ทั้งที่จำเลยยังเต็มใจที่จะเป็นคู่สมรสของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความว่า โจทก์จำเลยไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากันอีกต่อไป แต่ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นเพียงว่า โจทก์เท่านั้นที่สมัครใจแยกไปฝ่ายเดียว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่โจทก์และจำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข จึงไม่เข้าเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) ไม่ว่ามีการแยกกันอยู่นานเท่าใดก็ตาม