ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ
   ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ
   ศาลยุติธรรม
   ศาลแพ่ง
   ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
   ศาลอาญา
   ศาลอาญากรุงเทพใต้
   ศาลอาญาธนบุรี
   ศาลแพ่งธนบุรี
   ศาลจังหวัดตลิ่งชัน
   ศาลจังหวัดมีนบุรี
   ศาลแขวงพระนครเหนือ
   ศาลแขวงพระนครใต้
   ศาลแขวงปทุมวัน
   ศาลแขวงดุสิต
   ศาลแขวงธนบุรี
   ค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา
   ค้นหากฎหมายไทย
   อัตราค่าส่งหมายทั่วประเทศ
   ดาวน์โหลดแบบฟอร์มศาลยุติธรรม
   เนติบัณฑิตยสภา
   สภาทนายความ
   กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
   สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา
   ห้องสมุดกฎหมายไทย 1.1
   ห้องสมุดกฎหมายไทย 2.1
   ห้องสมุดกฎหมายไทย 2.2
   ห้องสมุดกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา
สถิติผู้เข้าชม
 ขณะนี้มีผู้เข้าใช้ 10
 ผู้เข้าชมในวันนี้ 1,009
 ผู้เข้าชมทั้งหมด 2,566,151
 เปิดเว็บ 02/06/2553
 ปรับปรุงเว็บ 17/02/2565
กรุณาฝาก Email ของท่าน
  เพื่อรับข่าวสาร ที่น่าสนใจ
4 ตุลาคม 2566
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.
10  11  12  13  14 
15  16  17  18  19  20  21 
22  23  24  25  26  27  28 
29  30  31         
             
 Webboard

การตอบคำถามทางเว็บไซท์ http://www.phuwarinlawyer.com/ 
เป็นเพียงความคิดเห็นเบื้องต้นทางกฎหมายซึ่งได้วินิจฉัยและตอบคำถามจากข้อเท็จจริงเพียงเท่าที่ปรากฏเท่านั้น
โดยอาจมีรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้ถามมิได้แจ้งข้อมูลมาอย่างครบถ้วนที่จะประกอบการวินิจฉัยอย่างเพียงพอ
ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณประกอบการตัดสินใจ
**************************************************************

ติดต่อปรึกษาทางโทรศัพท์  081-9250-144 หรือ Line ID 081-9250-144
**กรณีหากไม่รับสายแสดงว่าติดภารกิจศาลหรือติดงาน กรุณาโทรติดต่อใหม่อีกครั้ง**

lawyer.makewebeasy.com > ปรึกษาปัญหากฎหมายทั่วไป > การยื่นใบลาออกกับถูกไล่ออก?
  ผู้เขียน
 หัวข้อ : การยื่นใบลาออกกับถูกไล่ออก? (อ่าน 25950) 
1274
 
พนง.ที่จะถูกบังคับให้ลาออก
Guest
เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2553 01:09 น.
เคยมีพนง.ที่บริษัทยื่นใบลาออกที่บริษัท ฝ่ายบุคคลบอกว่าต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายเงินให้กับทางบริษัทฯเนื่องจากฝ่ายบุคคลอ้างเหตุผลทำให้บริษัทเสียหาย บริษัทจะต้องหาพนักงานทดแทน และหาไม่ทัน แต่พนง.อีกคนนึงของบริษัททำงานไม่ถูกใจนาย ก็ถูกเรียกให้ไปกรอกใบลาออก โดยพูดจาทำนองบีบบังคับให้พนง.คนนั้นเขียนใบลาออกว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพและลาออกเองด้วยความสมัครใจ และทางบริษัทก็ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ อย่างนี้ถือว่าบริษัททำผิดกฎหมายหรือเปล่าคะ? เป็นแค่ลูกจ้างจะสามารถเรียกร้องกับหน่วยงานไหนได้บ้างคะ เพราะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเลย ขอบคุณคุณทนายล่วงหน้าค่ะ
เจนจิรา
Guest
ตอบ # 1 เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2553 11:56 น. [แจ้งลบ]
เข้ามารอคำตอบด้วยใจระทึก..ที่ออฟฟิศเจนก็เคล้ายๆกันค่ะ อยากรู้มานานเหมือนกันว่ามีกฎหมายรองรับข้อกำหนดกฎภายในบริษัทในข้อนี้ไหม
แล้วออฟฟิศเจนมีการให้พนง.ต้องต่อสัญญาทุกๆ 3 เดือน ..สงสัยมากเลยว่าทำไมต้องทำแบบนั้น
ฝากถามคุณทนายนิดนึงค่ะว่า จริงๆการต่อสัญญาทุกๆ 3 เดือนจะมีผลแตกต่างยังไงกับการเป็นพนง.ประจำบ้างคะ แล้วถ้าหากเจนจะลาออกต้องจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทด้วย?:q: มีในข้อกฎหมายแรงงานไหมคะแบบนี้ ? (มีในสัญญาบอกว่าหากพนง.ลาออกต้องจ่ายเงินให้ออฟฟิศ?) :k::k:
รบกวนคุณทนายขอคำตอบทาง e-mail ก็ได้นะคะ
รัฐิโณทย์
Guest
latinoya@gmail.com
ตอบ # 2 เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2553 20:47 น. [แจ้งลบ]
ปูเสื่อรอฟังคำตอบด้วยอีกคนครับ เพราะบริษัทผมก้อเข้าข่ายที่คนแรกตั้งคำถามเหมือนกันครับ:angry: เหมือนบริษัทเลี่ยงจ่ายค่าทดแทนยังไงไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆพนง.อย่างผมเสียความรู้สึกแต่บอกใครไม่ได้เหมือนกันครับ
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 3 เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2553 14:52 น. [แจ้งลบ]
สวัสดีครับ

               ตามที่ได้สอบถามปัญหากฎหมายเกี่ยวกับกรณีที่นายจ้างข่มขู่ บีบบังคับให้เซ็นใบลาออกนั้น เรื่องนี้ในสังคมแรงงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หากลูกจ้างไม่รู้สิทธิและไม่ได้ใช้สิทธิตามที่กฎหมายแรงงานบัญญัติคุ้มครองไว้ ก็เสียสิทธิที่จะพึงมีพึงได้เป็นจำนวนมากครับ ดังนั้น สภาทนายความจึงได้นำคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเผยแพร่เป็นความรู้ และผมขอนำมาประกอบในการตอบคำถามต่อไปครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4052/2548


นายพลอย  บัวเจริญ               โจทก์


บริษัท ซี.พี. พลาซ่า  จำกัด      จำเลย


 ข้อกฎหมาย 


 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118  วรรคสอง “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้าง ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ....”


 ข้อพิจารณา


 การที่ลูกจ้าง ยื่นใบลาออกเพราะนายจ้างพูดว่า “หากไม่ยื่นใบลาออก จะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย” นั้น ถือเป็นการเลิกจ้างโดยพฤติการณ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  มาตรา 118 วรรคสองหรือไม่


 คำวินิจฉัย


 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540  ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายครัว มีหน้าที่ดูแลครัวในรอบดึก กรณีผู้ดูแลครัวในรอบดึกขาด และมีหน้าที่ดูแลอาหารบุพเพ่ต์ ได้รับค่าจ้าง อัตราสุดท้ายเดือนละ 13,440 บาท เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยได้ออกหนังสือตักเตือนโจทก์ว่ากระทำผิดวินัยโดยไม่จัดพนักงานฝ่ายครัวเข้าดูแลงานในช่วงกลางคืน กับวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 จำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์ว่า กระทำผิดวินัยโดยแสดงท่าทีก้าวร้าวไม่ให้เกียรติผู้บังคับบัญชา ต่อมา วันที่ วันที่ 8 กรกฎาคม 2546 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย ได้เรียกโจทก์เข้าไปพบที่ห้องประชุมฝ่ายบริหารและพูดคุยกัน แล้วโจทก์ได้เขียนใบลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย  โดยให้พ้นจากการเป็นพนักงานในวันที่ 9 กรกฎาคม 2546  ตามเอกสารหมาย ล.1 ให้แก่ บ.


 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาเรื่องโจทก์ เขียนใบลาออกโดยสมัครใจ หรือ ถูกบังคับข่มขู่ให้เขียนใบลาออก  ว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยมานานถึง 6 ปีเศษ ลักษณะงานที่ทำมีความมั่นคง รายได้ค่อนข้างดีภริยาโจทก์ก็ทำงานอยู่ในทีทำงานเดียวกัน ขณะที่โจทก์เขียนใบลาออกเองไม่ปรากฏว่า มีงานอื่นที่มีรายได้ดีกว่ารองรับอยู่  ก่อนเกิดเหตุเพียงไม่กี่วันโจทก์ได้ยืนใบลาพักผ่อนไว้  ชี้ให้เห็นว่าโจทก์มิได้มีความคิดที่จะลาออกมาก่อน หากโจทก์มีความประสงค์ที่จะลาออกจากงานจริงก็สามารถยื่นใบลาออกจาก ร. ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ตามระเบียบของจำเลย ไม่มีความจำเป็นจะต้องยื่นต่อ บ โดยตรง หากจำเลยต้องการเพียงเรียกโจทก์เข้าไปพบเพื่อสอบถามเรื่องที่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับทราบความผิดตามหนังสือตักเตือน ฝ่ายบุคคลของจำเลยก็น่าจะดำเนินการได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกประชุมตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดถึงระดับผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทุกตำแหน่งในลักษณะเหมือนมีเรื่องสำคัญ หากโจทก์เข้าไปพบ ร. พูดว่าถ้าจะให้โจทก์ออกก็ขอให้เลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยให้ และ ร. บอกกับโจทก์ว่าความรับผิดตามใบเตือนยังไม่สามารถให้โจทก์ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้  โจทก์ยังสามารถทำงานกับจำเลยต่อไปได้จริง เหตุใดโจทก์ จึงยอมลงชื่อในใบลาออกซึ่งจะทำให้โจทก์เสียสิทธิในค่าชดเชยจำนวนแสนกว่าบาททั้งๆที่โจทก์เรียกร้องสิทธิในเงินส่วนนี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับฐานะและรายได้ของโจทก์แล้ว นับว่า เป็นจำนวนค่อนข้างสูง ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ลงชื่อในใบลาออกเพราะโจทก์มีสาเหตุขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาก็ไม่เป็นผลเพียงพอที่จะทำให้โจทก์ยอมทิ้งงานที่มั่นคง มีรายได้และสวัสดิการดี ต้องสูญเสียรายได้ไปโดยไม่มีงานทำเช่นนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ ที่จำเลยเคยย้ายโจทก์ออกจากงานในรอบบ่ายไป ทำงานรอบดึกในลักษณะที่โจทก์ไม่สมัครใจ พฤติการณ์ที่ผู้บริหารของจำเลยเรียกประชุมผู้บังคับบัญชา เรียกโจทก์เข้าไปพบในห้องประชุม โดยเตรียม ใบลาออกไว้แล้ว และ ร บอกให้โจทก์เขียนใบลาออกให้มีผลในวันรุ่งขึ้น ทั้งๆที่ตามระเบียบของจำเลยจะต้องลาออกล่วงหน้า 30 วัน ล้วนสนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยเป็นฝ่ายมีความประสงค์ให้โจทก์ยื่นใบลาออกจากงาน ไม่ใช่โจทก์สมัครใจยื่นใบลาออกเอง ประกอบกับหลังจากเขียนใบลาออกแล้ววันรุ่งขึ้นโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ กล่าวหาว่าจำเลยบีบบังคับให้ยื่นใบลาออกโดยไม่สมัครใจ การขู่ว่าหากไม่ยื่นใบลาออกจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยทันที พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย


 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า  จำเลยเป็นฝ่ายบีบบังคับให้โจทก์ยื่นใบลาออก โดยพูดว่า หากไม่ยื่นใบลาออกจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ในภาวะเช่นนั้นโจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะลูกจ้างย่อมเกิดความกลัวและยอมทำใบลาออกให้แก่จำเลย การเขียนใบลาออกของโจทก์จึงเกิดขึ้นเพราะการพูดข่มขู่ของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกับการที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกทันทีฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาจะไม่ให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและจะไม่จ่ายค่าจ้างอันเป็นการเลิกจ้าง


 หมายเหตุ


 คดีนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและเหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับการเลิกจ้างโดยปริยายได้ดีมาก โดยศาลฎีกาท่านเห็นว่า การเขียนใบลาออกของโจทก์ที่เกิดจากการข่มขู่ของจำเลยรวมทั้งพฤติการณ์อื่นๆ ดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาเลิกจ้างของจำเลยโดยพฤติการณ์


 แต่น่าเสียดายที่ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัยว่าทำไมการแสดงเจตนาของโจทก์ตามใบลาออกที่เกิดจากการข่มขู่ของจำเลยนั้น เสียเปล่าหรือไม่ มีผลในทางกฎหมาย จึงอาจจะอนุมานได้ สามประการ คือ


 ประการแรก  การแสดงเจตนาของโจทก์ตามใบลาออก มิได้มีเจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมา  และจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร้นอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154


 ประการที่สอง  การแสดงเจตนาของโจทก์ตามใบลาออก เป็นการกระทำไปตามเจตนาการเลิกจ้างของจำเลย จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้มีการกระทำหรือแสดงเจตนาใดๆ ให้มีผลผูกพันในทางกฎหมาย


 ประการที่สาม  การแสดงเจตนาของโจทก์เป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 และโจทก์ได้บอกล้างโดยการไปฟ้องศาลในวันรุ่งขึ้นแล้ว จึงเป็นโมฆะมาแต่ต้น


 ซึ่งถ้าศาลฎีกาวินิจฉัยอย่างนั้น แสดงว่า การข่มขู่ดังกล่าวเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว  ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น ตามมาตรา 164 วรรคสอง และการที่นายจ้างพูดว่า “ถ้าไม่เขียนใบลาออก จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย” ไม่ใช่กรณีของ “การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกติ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165  ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่


 อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ นายจ้าง หรือฝ่ายบุคคลจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับการประนีประนอมให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกเพื่อลูกจ้างจะได้ไม่ต้องเสียประวัติเองมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะได้กระทำความผิดถึงขั้นถูกเตือนเป็นหนังสือมาแล้วหลายครั้ง ดังกรณีของคดีนี้ก็ตาม ซึ่งอาจจะทำให้เป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ “การเลิกจ้าง” โดยนายจ้างจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างตามควรแก่กรณีลดน้อยลง และก็คงเพิ่มสถิติการ “เลิกจ้าง” ตามกฎหมายโดยไม่มีการอะลุ้มอล่วยมากยิ่งขึ้น


ที่มา : สภาทนายความ

             ดังนั้น เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็จะเห็นว่านายจ้างกระทำผิดกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วยการข่มขู่ บีบบังคับให้เซ็นใบลาออก พนักงานหรือลูกจ้างสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานตรวจแรงงานเขตพื้นที่ที่บริษัทนายจ้างตั้งอยู่ หรือไปพบนิติกรศาลแรงงานเพื่อให้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากนายจ้างได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดครับ

              ส่วนคำถามของคุณเจนจิรา กรณีนายจ้างให้ทำสัญญาจ้างทุก 3 เดือน หรือทำสัญญาจ้างกันปีต่อปีนั้น ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าชดเชยวิธีการหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งผมจะได้นำคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาเผยแพร่เป็นความรู้ต่อไปครับ

แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2558 23:37 น.
รัฐิโณทย์
Guest
latinoya@gmail.com
ตอบ # 4 เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2553 17:37 น. [แจ้งลบ]
โอวว...ในที่สุดเราก็ได้คำตอบแล้ว ..ขอบคุณมากครับคุณทนาย
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 5 เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2553 00:13 น. [แจ้งลบ]


             ตามที่คุณเจนจิราได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างทุก 3 เดือนนั้น ผมขอตอบข้อสงสัยเพิ่มเติมดังนี้ครับ

ข้อกฎหมาย 



           พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

            (1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

            (2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

            (3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน  หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

            (4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

            (5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

            การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

             ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

             การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง



 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2549



          จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ 12 ฉบับ ระยะเวลาตามสัญญาจ้างฉบับแรกถึงฉบับที่ 10 มีระยะเวลาฉบับละ 1 ปี โดยสัญญาฉบับแรกนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 ครบสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2537 และฉบับต่อ ๆ มาเริ่มระยะเวลาต่อเนื่องกันไปถึงฉบับที่ 10 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2546 ฉบับที่ 11 เริ่มสัญญาต่อเนื่องไปมีกำหนด 1 เดือน และฉบับที่ 12 มีกำหนด 2 เดือน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2546 รวมระยะเวลาตามสัญญา 10 ปี 3 เดือน แต่งานที่โจทก์ทำเป็นการปฏิบัติงานปกติของธุรกิจของจำเลยจึงมิใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานไว้ในสัญญา แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างไว้และเลิกจ้างเมื่อสิ้นสุดตามกำหนดระยะเวลานั้น ก็ไม่ทำให้โจทก์เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยทั้ง 12 ฉบับ มีสาระสำคัญของสัญญาเป็นอย่างเดียวกัน งานที่ทำมีลักษณะอย่างเดียวกัน สัญญาที่ทำมีระยะเวลาต่อเนื่องกันไป จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องติดต่อกันไป โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 100,000 บาท ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 1,000,000 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5)



           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2545                                                                       

           ป.พ.พ. มาตรา 582 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 20, 118



          เมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้างถึงวันที่ครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง



          สัญญาจ้างแรงงานที่มีการแบ่งทำสัญญาจ้างเป็นช่วงสั้น ๆ หลายช่วงโดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกัน ถือว่านายจ้างมีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2544                                                                 

          พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20, 118



          ตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะจ้างโจทก์ทำงานให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ติดต่อกันไป แต่มีการแบ่งเป็นสัญญาช่วงสั้น ๆ หลายช่วงโดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกันไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20ที่ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น



 



ข้อพิจารณา



 



          การเลิกจ้าง คือ การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างทุกกรณี



          ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยคือ การที่นายจ้างและลูกจ้างทำสัญญาจ้างกันมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น



          การทำสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยข้างต้นนั้น จะต้องเป็นการจ้างงานในโครงการที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือเป็นงานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวมีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น และประการสำคัญงานโครงการที่ทำสัญญาจ้างกันนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีด้วย



          ดังนั้น หากงานที่นายจ้างตกลงให้ลูกจ้างทำนั้น เป็นงานที่เป็นปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง แม้จะทำสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลากันไว้ก็ตาม เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างแล้ว ก็ถือเป็นการเลิกจ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยเหมือนกัน ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น บริษัทร่ำรวยเงินทอง จำกัด จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจก่อสร้าง และขายบ้าน คอนโดมิเนี่ยม หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ได้ทำสัญญาจ้างนายขยัน เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง เมื่อโครงการใดเสร็จแล้วก็จะให้ไปควบคุมงานที่โครงการอื่นต่อไป โดยทำสัญญาจ้างกันปีต่อปี และมีการต่อสัญญาจ้างกันหลายครั้ง รวมสัญญาจ้างทั้งหมด 4 ฉบับ รวมระยะเวลาจ้างตั้งแต่สัญญาฉบับแรกถึงฉบับที่สี่จำนวน 4 ปี ดังนี้ ถือว่างานที่จ้างกันเป็นงานปกติของธุรกิจของบริษัทร่ำรวยเงินทอง จำกัด มิใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของบริษัทซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนเมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างฉบับที่สี่แล้วไม่มีการต่อสัญญากัน ก็ไม่ทำให้นายขยัน เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนที่บริษัทจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่เหตุที่มีการทำสัญญาจ้างลักษณะนี้ไว้ ก็เนื่องจากหากนายขยันไม่รู้สิทธิตามกฎหมายแรงงานก็อาจจะเพิกเฉยไม่เรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัท นอกจากบริษัทนายจ้างจะไม่ต้องเสียเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อสัญญาสิ้นสุดแล้ว บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชย ดังนั้น การทำสัญญาจ้างแบบปีต่อปีจึงถือว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานครับ


แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2556 12:42 น.
เจนจิรา
Guest
ตอบ # 6 เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2553 10:25 น. [แจ้งลบ]
ขอบคุณมากค่ะคุณทนาย สำหรับคำตอบ สำหรับเคสดิฉันถ้าหากจะฟ้องคงจะฟ้องเพื่อให้เป็นกรณีเคสตัวอย่างค่ะ
เพราะเห็นพนง.เพื่อนร่วมงานหลายคนที่ต้องลาออกไปเพราะโดนบีบให้ลาออกนั้นไม่สามารถทำอะไรได้เลย
และก็ไม่รู้เรื่องกฎหมายด้วย

รบกวนถามเพิ่มเติมค่ะว่า
ถ้าหากกรณีจ้างเป็นงานๆไป เช่น ทำงานในบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แล้วในสัญญาไม่ได้ระบุเป็นโครงการ
แต่ตอนจ้างก็ระบุเป็นโครงการๆไป อย่างนี้จะมีผลอะไรไหมคะ ถ้าจะฟ้องเรียกค่าชดเชยบริษัท
ขอบคุณคุณทนายภูวรินทร์อีกครั้งค่ สำหรับความรู้กฎหมายแรงงานเพิ่มเติมค่ะ
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 7 เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2553 14:09 น. [แจ้งลบ]
งานโครงการที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น จะต้องเป็นงานโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน ดังนั้น แม้ในสัญญาจ้างไม่ได้ระบุเป็นโครงการไว้ แต่ขณะจ้างระบุเป็นโครงการๆ ไปที่คุณถามเพิ่มเติมมานั้นจึงไม่มีผลอะไรกับสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างครับ

สิทธิได้รับเงินค่าชดเชยนี้เป็นสิทธิที่กฎหมายบัญญัติไว้ จะทำสัญญายกเลิกสิทธินี้ไม่ได้ หากทำไว้ก็ไม่มีผลบังคับใช้เพราะเป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎหมาย แต่จะเสียสิทธิก็เพราะตัวลูกจ้างเองที่ละเลยเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเองมากกว่า
ลูกแม่คนที่ 6
Guest
ตอบ # 8 เมื่อ 6 ธันวาคม 2553 20:32 น. [แจ้งลบ]
ก่อนที่จะถูกบังคับในบริษัทมีการตรวจสอบเงินกู้ชมรมออมทรัพย์พนักงานเกิดขึ้น หัวหน้างานผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการถูกออกไปและเป็นคดีความกับบริษัท ผู้ช่วยผู้จัดการมีหน้าที่รับผิดชอบทำเรื่องเงินชมรมออมทรัพย์พนักงาน คดโกงโดยใช้หลบหลีกทโดยการโอนเงินผ่านบัญชีพนักงานทั้งโรงงานและก็ทำเป็นว่าโอนผิดบัญชี และก็ให้พนีกงานถอนกลับมาให้หมุนไปหมุนมาอย่างนั้นทุกคนที่เป็นลูกน้องคึดไม่ถึงรู้สึกอับอายพนักงานทั้งโรงงานมาก ทำงานรู้สึกขาดความเชื่อถือความเลวขอนายทั้ง2 มาก แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบเรื่องที่เจ้านายทำผิดอะไรบ้างเพราะว่าข้าพเจ้าทำงานไม่ค่อได้นั่งโต๊ะทำงานหรอก ฝ่ายอาคารสถานที่ คุมเรื่องรถรับ ส่งพนักงาน 5 สายและความสะอาด ในโรงงานทั้งหมดคุมแม่บ้าน 22 คน ก็เหนื่อจะเป็นลมแล้วทำงานเหมือนไม่ได้หายใจเลย และคุมผู้ขายอาหารในโรงงาน 9 ร้าน สวนในโรงงานอีก บรฺษัมใหญ่มากเยนื้อที 37 ไร่
ลูกน้องทุกคนในแผนกถูกผู้บริหารสอบสวน โดยมีตำรวจ ทนายความบริษัทและผู้บริหาร และผู้จัดการ ส่วนข้าพเจ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินบัญชีเงินเดือนปกติเพราะยินยอมให้ตรวจสอบหมด
ครั้งแรก ต่อมาถูดเรียกให้เข้าไปให้บอกความผิดของผู้จัดการว่าเธอทำงานเป็น10 ปีไม่รู้ว่าผู้จัดการทำผิดอะไรบ้าง เป็นไปไม่ได้ ความผิดก็เขียนอธิบายไปเป็นอ 5 แผ่นกระดาษผู้บริหารยังไม่พอใจ
ครั้งที่สอง สอบถามย้อนหลังเรื่องผู้รับเหมาโกงขยะตราชั่ง ปี 2551 ว่าทำไมผู้รับเหมาถึงโกงตราชั่งอธิบายเสร็จแล้วทางฝ่ายการเงินให้ใหพิมพ์ขายใหม่ให้ถูกต้อง คือว่าจะขุดคุ้ยหาเรื่องความผิดให้ได้ทั้งๆที่ผ่านไป 2 ปีแล้วก็ตาม
ครั้งที่สาม ก่อนถูกออกจากงาน 5วันผู้ช่วยผู้จัดการได้สารภาพผิดกับบริษัท ส่วนหนึ่ง ไม่ทั้งหมด และโทรศัพท์มาว่าจะให้ข้าพเจ้าเป็นพยานให้เห็นว่าผู้จัดการขอยืมเงินออมทรัพย์แงนส่วนตัวด้วย และข้าพเจ้าก็ตอบปฏิเสธไปว่าไม่เห็นจริงและไปเท็จต่อศาลจะได้ถูกดำเนินคดี และให้ข้าเจ้าไปพบผู้บริหารวันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าก็ไม่ไปและข้าพเจ้าพูดกับเพื่อนๆๆในแผนกว่าถ้าฝ่ายบริษัทบังคับมากๆจะไปแจ้งควมที่สถานีตำรวจ หลังจากนั้น 3 วันข้าพเจ้าถูกทีมผู้บริหารเรียกพบที่อาคารผู้บริหารในห้องลับปิดประตูทั้งหมดรายละเอียดดังนี้
.กรณีที่ข้าพเจ้าถูกฝ่ายผู้บริหารสูงสุด มาจนถึงผู้จัดการนวมทั้งหมด 5 คน และทนายความของบริษัท 1คนเรียกเข้าไปพบ เสนอความผิดร้ายแรง 2เรื่อง
1.เรื่องขายขยะไม่มีหจก. ข้าพเจ้าบอกว่าขายตามที่มีการประมูลราคาได้เซพตี้และเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมไปดูหน้างานและอนุมัติขายโดยผู้บริหารและขายได้ประมาณ 1เดือนเจ้าของใหญ่ไม่เข้ามาทำสัญญาเพราะถ้าซื้อแต่ขยะทั่วไป ส่วนขยะที่ปนเปื้อนสารเคมมีได้หจก.ของเจ้าของคนอื่น ฝ่ายบริษํทยกเลิโดยผู้จัดการหลักฐานใบเสร็จการส่งทางไปรษณ๊ย์ และเอการสำเนาก็ถ่ายเอกสารไว้ในแฟ้ม
2.เรืองเอื้อประโยชน์กับ หกจ.รถรับส่งพนักงานเจ้าเก่ากับเจ้าใหม่หาว่ามีเจ้าใหม่มาแล้วยังคิดจ้างเจ้าเก่าอีก ข้าพเจ้าบอกว่านิสัยไม่มีอยู่แล้ว ข้าพเจ้าให้เอาสัญญาว่าจ้างเรื่องรถเจ้าใหม่กับเจ้าเก่ามาแสดง ถูกต้องผู้จัดการฝ่ายการเงินก็ถูกผู้บริหารด่าอีกต่อหน้า ก็หาเรื่องต่ออีกว่าจ้างไม่ใช่ราคาตามที่บริษัทกำหนด ข้พเจ้าบอกว่า
งานที่จ้างไปสวดพระอภิธรรมมาดาหัวหน้างจ้างรวมน้ำมันและเป็นของชมรม เพราะบริษัทไม่มีงบประมาณจ้างในกรณีนี้ ใช้เงินพนักงานจ่ายพนักงานร่วมกันบริจาคชมรม จ่ายเงินก็จ่ายเป็นเงินสดไม่ได้โอนผ่านบัญชีบริษัท
เพราะเป็นของพนักงานทุกคน ไม่ว่าจะซืออุปกรณืกีฬา หรือซื้อข้าวสารอาหารแห้งให้คนชรา หรือิผู้ยากไร้ก็ใช้ซ์อโดยไม่ต้องผ่าน การจัดซื้อของบริษัท เพราะชมรมจะมีกรรมการ ผู้ที่ทำเบิกค่าใช้จ่ายก็ผู้ที่ทำชมรมออมทรัพย์ ผู้ช่วยผู้จัดการ แต่ชื่ออีกชมรมเรียกว่าชมรมเพื่อสังคม ทั้ง2 เรืองจะให้ข้าพเจ้าเซ็นรับความผิดตามใบเตือน ข้าพเจ้าจึงไม่เซ็นข้าพเจ้าบอกว่าทำไมไม่สอบสวนก่อนถามเพือนๆในแผนกก็ได้ พักยกไปให้ข้าพเจ้านั่รอในห้องประชุมใหญ่โดยมีผู้จัดการข้าพเจ้าคนใหม่รักษาการณืแทน พยามยามยัดเยียดใบเตือนให้เซ็นข้าพเจ้าบอกว่าเซ็นแล้วมีผลอย่างไร ไม่มีใครพูดเลยสักคน

คนที่1พูดว่า ต่อมาผู้บริหารก็พูดว่าเธอตัดขาดผู้จัดการเธอไม่ได้เธอไม่ยอมปริปากบอกความผิดของผู้จัดการเธอเลยเป็นไปไม่ได่อยู่มานานเป็น 10ปี ไม่รู้ความผิดผู้จัดการคนอื่นเขาบอกกันทุกคน ข้าพเจ้าบอกว่ารู้เหมือนคนอื่นรู้พูดกันไปพูดกันมาว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้แต่ไม่มีที่มา ว่ามาจากไหน เห็นทำความผิดกับตาก็ไม่เคยเห็น บังคับให้รู้ความผิดของคนอื่น สามีเธอเป็ข้าราชการ ผู้จัดการติดต่อย้ายสามีเธอมา ข้าพเจ้าพูดว่าถ้าอย่างนั้นก็เอาสามีข้าเจ้าย้ายกลัที่เก่าดีไหมเพื่อข้าพเจ้าจะได้มีงานทำใช่ไหมไม่มีผู้บริหารคนไหนตอบสักคนเงียบ

คนที่สองพูดว่า บุคซื่อไว้แล้ 15 คน เธอไม่ลาออกตอนี้เธอต้องออกอยู่ดีมีชืออยู่อกกตอนนั้นเธอจะไม่ได้อะไรเลย เป็นไปไม่ได้เธอไม่รู้ความผิดผู้จัดการเธอ เธอทำงานแบบสบายไม่เดือดเนื้อร้อนใจเขามีเรื่องกัน จะให้เดือดร้อนอะไรผู้บริหารก็ตรวจสอบ ข้าพเจ้าก็มีงานทำหลายอย่าง
คนที่สามพูดว่า ทีมนี้เขาไม่เอาเธอ ไม่ไว้วางใจเธอเธอเป็คนของผู้จัดการ ถ้าไม่ลาออกตอนนี้ทำงานไปแมสายก็เตือน ผิดนิดผิดหน่อยก็เตือน เตือนหนักเข้าออกโดยไม่ได้อะไรเลย

ข้าเจ้าพูดว่าทำไม่ต้องเอาข้าพเจ้าไปเกี่ยวข้องด้วยเพราะว่าทำแต่งานอายุงาน ก็คืออายุบริษัท ข้าเจ้าเสียใจกร้องให้สุดๆในชีวิตข้าเจ้าเลย ข้าพเจ้าพูดร้องขอว่ามีหนี้สินเยอะเพราะ บ้านต้องผ่อน 6 แสน บัตรเคดิตรอัก 3แสน รถอีก 2แสนห้า ผู้บรหารคนที่ 1ก็ไม่ยอม ไม่มีใครเขาเอาเธอแล้ว เธอเอาเช็คไป ให้ 10 เดือนให้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 1เดือน ข้าพเจ้าทราบเลยว่าถึงอย่างไร คิดในใจคนเดียวขณะนั้น ผิดก็ตาย ถูกก็ตาย อย่างไรมันก็ไม่เอาเราแล้วไม่รู้วง่าจะไปทางไหนเพราะพวกผู้บริหารประกบตัวเราเหมือนนักโทษเลย และพูดขอว่าอายุข้าพเจ้าเยอะแล้วจะไปหางานที่ไหนทำได้ละ ผู้บริหารบอกว่าไม่ได้อย่างไรก็ต้องลาออกวันนี้เดี๋ยวนี้ด้วย จำใจต้องเซ็นชือในใบลาออกที่พิมมพ์ที่ตึกผู้บริหารโดยไช่แบบฟอร์มของบริษัท พอเซ็นใบลาออกแล้ว ผู้บริหารก็ดึงเช็คถอยหลังกลับและบังคับให้เซ็นหัวกระดาษเขียนว่าใบยินยอมไม่ฟ้องร้อง และเนื้อหาว่าข้าพเจ้าได้รับเงินช่วยเหลือทั้งหมด 11 เดือนเป็นเงินเนี้บาท และหักภาษี 3% เหลือเป็นเงินตรงกับเช็คที่ออกมาให้ แต่ไม่ได้ระบุว่าเงินค่าอะไรข้าพเจ้าอ่านไม่ละเอียดหรอกค่ะร้องไห้หน้าตาฝ้าฟางไปหมด เสียใจกทำงานมา 16 ปี 1เดือน
หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าก็ไปร้องทุกข์กับสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน เจ้าหน้าที่พูดว่าถ้าบังคับข่มขู่ต้องใช้ปืนสิ ข้าพเจ้าตัวสั่นยังไม่หายเลยรู้สึกเสียใจมากคิดว่าเจ้าหน้าที่พูดไม่ดีเลย ถ้าอยาฟ้องก็ไปฟ้องศาลแรงงานสิ ได้เงินแล้วเธอจะเอาอะไรอีกล่ะ โทรศัพท์หานิติกรศาลแรงง่านขอคำแนะนำเล่าให้ฟัง บอกว่าเป็นการจัดการของบริษัท คติธรรมที่ว่า "หนีเสือปะจรเข้ ขึ้นต้นไม้ปะรังแตน"
คำแนะนำปัจุบันกำลังดำเนินการฟ้องศาลแรงงาน โอกาสจะได้เพิ่มบ้างไหมค่ะ เพราะตอนนี้ ตกงาน 6 เดือน ไปสมัครที่ไหนก็ไม่เชื่อว่าลาออกเองเพราะทำงานที่เดียวมาตั้ง 16 ปี 1 เดือน ค่ะ สัมภาษณ์ 4 บริษัทแล้วกก็ไมเรียกตัวเข้าทำงานเลยค่ะ ประกอบกับอายุเยอะตั้ง 48 ปีค่ะ ทำงาน พ.ศ.2537-2553 ค่ะ
คำถาม 2หัวข้อค่ะ 1. ฟ้องเรื่องคดีแรงงานแล้วเสร็จ
2. หลังจากนั้น ฟ้องคดีศาลอาญาข้อหาบังคับข่มขู้ได้ไหมคะ เพราะถูก 6 คน รุม 1 คนค่ะ
ต้องการคำตอบบ้างนะคะเพราะเปิดอ่านทุกวันค่ะ
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 9 เมื่อ 8 ธันวาคม 2553 22:20 น. [แจ้งลบ]
สวัสดีครับ

          ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ถือว่าบริษัทนายจ้างได้กระทำการอันมีลักษณะบีบบังคับให้คุณลงชื่อในหนังสือลาออกจากการทำงานโดยคุณไม่มีความผิดและไม่สมัครใจที่จะลาออกจึงถือเป็นการเลิกจ้าง รายละเอียดตัวอย่างการวินิจฉัยคดีจะปรากฏตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในความเห็นด้านบนของกระทู้นี้  ดังนั้น คุณจึงมีสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่จะได้รับเงินค่าชดเชยในอัตราสูงสุดคือ ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ซึ่งบริษัทได้ทำการจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าวให้แก่คุณแล้ว ส่วนคดีที่ฟ้องศาลแรงงานนั้นคงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ก็มีโอกาสที่จะได้เงินเพิ่มเติมเพราะทำงานมาเป็นเวลานานกว่า 16 ปีเศษ โดยเป็นเรื่องที่ศาลแรงงานจะได้พิจารณาวินิจฉัยต่อไปครับ

         ส่วนกรณีคุณประสงค์จะฟ้องคดีอาญาข้อหาความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพเนื่องจากถูกคนในบริษัท 6 คนข่มขู่รุมคุณคนเดียวนั้น หากการกระทำของบุคคลทั้งหมดกระทำการครบองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ซึ่งบัญญัติว่า

         "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือ จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้ กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำ ความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใดผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะ มีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีและปรับ ตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"

         คุณก็สามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจที่เกิดเหตุได้ ส่วนการที่ตำรวจจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก็ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดครับ เพราะตามข้อเท็จจริงที่คุณเขียนมานั้นผมอ่านแล้วยังสับสน และยังไม่ชัดเจนว่าจะเข้าองค์ประกอบของความผิดหรือไม่  ขอให้โชคดีครับ



         

      
แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2553 22:25 น.
ทิวลิป
Guest
ตอบ # 12 เมื่อ 15 ธันวาคม 2553 20:50 น. [แจ้งลบ]
ขอบคุณค่ะ ข้าพเจ้าตอบกลับแต่ส่งไปแล้วข้อความหายไปไหนค่ะ
ฝ่ายจำเลยถึงวันศาลแรงงานนัดไกล่เกลี่ยก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนวันนัดใหม่ เหตุผลก็คือว่าทนายความฝ่ายจำเลยไม่ว่างไปว่าความที่อื่นจังหวัดอื่นๆ แบบนี้ก็แพ้แล้วเพราะไม่รู้ว่าจะมาพูดแบบไหนเพราะบังคับ จริงๆในห้อองประชุมลับ ตั้งแต่เวลา 15.30น-18.00น. รวมเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง ข้อหาบังคับข่มขู่หน่วงเหนี่ยวไปไหนก็ไม่ได้ให้นั่งเฉยๆ เข้าห้องน้ำก็ไม่ได้ น้ำก็ไม่ได้ดื่ม ไม่เซ้นใบลาออกก็ไม่ให้ออกมา ถึงเวลาเลิกงานสำหรับกะกลางวันพนักงานคนอืนกลับบ้านไปหมดแล้ว ในอาคารพนักงานกะกลางคืนเข้ากะทำงานกันหมดแล้ว

ทิวลิป
Guest
ตอบ # 13 เมื่อ 15 ธันวาคม 2553 21:12 น. [แจ้งลบ]
เรื่องบังคับข่มขู่ไม่ได้ไปร้องทุกข์กับตำรวจตอนแรก และใช้เหตุผลที่ไปร้องทุกข์ที่เจ้าหน้าที่สวัสดิการคุ้มครองแรงงานถ้าเกินเวลาแล้วใช้หลักฐานเชื่อมโยงต่อจากคดีเรื่องแรงงานฟ้องคดีอาญาต่อได้หรือเปล่าคะหมดอายุความไปแล้วหรือยังค่ะ เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2553 รวมระยะเวลา 6 เดือนกับ 7วันแล้วค่ะ
นก
Guest
may0000000@hotmail.com
ตอบ # 14 เมื่อ 3 ตุลาคม 2554 20:14 น. [แจ้งลบ]
ไปสัมภาษณ์งานมากรอกใบสมัครเรียบร้อยเริ่มงาน 7/10/54นี้ แต่บ.ให้เซ็นต์ชื่อในใบลาออกไว้เลย

ผิดปรกติไหม๊ค๊ะ ช่วยตอบด้วยค่ะ
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 15 เมื่อ 6 ตุลาคม 2554 11:25 น. [แจ้งลบ]
ตอบคุณนก

                  การที่นายจ้างตกลงรับเข้าทำงานพร้อมทั้งให้ลงลายมือชื่อในใบลาออกไว้ด้วยนั้น ถือว่าเป็นการกระทำด้วยเจตนาที่ไม่สุจริตเป็นที่ตั้งอยู่แล้วครับ แต่ปัญหาอยู่ที่ใบลาออกดังกล่าวจะมีผลเป็นการลาออกของลูกจ้างโดยสมัครใจหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายการแสดงเจตนาลาออกจากการทำงานต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจ หากนายจ้างนำใบลาออกที่ให้ลงลายมือชื่อไว้ล่วงหน้ามาใช้ ลูกจ้างย่อมมีสิทธิโต้แย้งได้ว่าใบลาออกดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการลงชื่อไว้ล่วงหน้าโดยไม่ได้กรอกวันเดือนปีที่ลาออกหรือรายละเอียดอื่น ๆ และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของนายจ้างด้วย ใบลาออกดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย 

                   แต่เมื่อถึงตอนนั้น อาจเป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี นายจ้างก็ต้องบอกว่าคุณเพิ่งทำใบลาออกและยื่นด้วยตนเอง การที่จะอ้างว่าได้ลงลายมือชื่อในใบลาออกไว้ตั้งแต่ขณะเริ่มทำงานจึงอาจมีน้ำหนักให้รับฟังน้อยลง 

                 ดังนั้น คุณควรที่จะไปลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจ ลงลายละเอียดชัดเจนว่าได้ทำงานตั้งแต่เมื่อไร พร้อมทั้งได้ลงลายมือชื่อในใบลาออกไว้ด้วย มีลักษณะเป็นอย่างไร และเก็บรักษาสำเนาใบแจ้งเป็นหลักฐานของตำรวจไว้เป็นอย่างดี เพราะหากอนาคตมีปัญหาก็สามารถนำเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนว่ามีการลงบันทึกประจำวันรับแจ้งไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจไว้ด้วยซึ่งจะมีวันที่ที่ไปแจ้งปรากฏอยู่ในช่วงใกล้เริ่มทำงานด้วย
แก้ว
Guest
gumptional@hotmail.com
ตอบ # 16 เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2554 22:18 น. [แจ้งลบ]
มีเรื่องด่วนปรึกษาค่ะ...ดิฉันทำงานเป็นเซลล์กับบริษัทหนึ่งอยู่ เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 จนถึงวันนี้ กำหนดครบรอบหนึ่งปี คือสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2554 ตลอดระยะเวลาการทำงานดิฉันสามารถปิดตามเป้าได้ทุกเดือน แต่ติดตรงที่ดิฉันกับหัวหน้างานมีเรื่องทะเลาะกันบ่อย อันเกิดจากนิสัยการทำงานที่แตกต่างกัน ดิฉันถูกบีบให้ลาออกหลายครั้ง(ทุกสิ้นเดือนหลังจากพ้นโปร) จนถึงเดือนกันยายนหัวหน้างานบังคับให้ดิฉันเขียนใบบันทึกภายในโดยบังคับให้เขียนตามข้อความที่ได้กำหนดมา และบังคับให้ดิฉันเซ็นต์ไว้ พร้อมกับให้ดิฉันเซ็นต์ใบประเมินที่หัวหน้าดิฉันได้ทำขึ้น(ซึ่งหัวหน้าได้นำเอกสารดังกล่าวยื่นให้กับฝ่ายบุคคล) และเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายที่ดิฉันจะทำงานและยินยอมเซ็นต์ใบลาออกตามเงื่อนไข แต่บังเอิญดิฉันและหัวหน้าได้มีปากเสียงกัน ดิฉันจึงถูกบังคับให้เขียนไปลาออกตอนสิ้นเดือนโดยระบุวันลาออกเป็นวันที่21 พฤศจิกายน 2554 นั้นก็จะหมายความว่าดิฉันทำงานไม่ครบ 1 ปี ซึ่งหัวหน้างานแจ้งว่าจะแจ้งฝ่ายบุคคลไว้ก่อน ว่าให้ดิฉันออกในวันที่21 พฤศจิกายน 2554 ดิฉันควรจะทำอย่างไรต่อไปดีค่ะ

ความต้องการของดิฉัน เพียงแค่ทำงานครบ 1ปี กับบริษัทนี้เท่านั้น (เหลืออีกเพียงแค่ 9 วันค่ะ)
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 17 เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2554 23:05 น. [แจ้งลบ]
ทนายภูวรินทร์ ได้ตอบคำถามคุณแก้วทางอีเมลล์แล้ว
สมโภชน์
Guest
ppsp23@hotmail.com
ตอบ # 18 เมื่อ 28 ธันวาคม 2554 16:27 น. [แจ้งลบ]
รบกวนขอปรึกษา...ท่านทนายภวรินทร์
ผมเริ่มทำงานเมื่อ 14 พ.ค42 ตำแหน่ง พนง.ติดตามหนี้สิน ปัจจุบันเป็นหัวหน้าติดตามหนี้สิน เริ่มมีปัญหาเมื่อวันที่ 19/12/54 ผมทำใบรับเงินชั่วครวาหา ต่อมาวันที่20/12/54 ผมได้ไปลง ปจว.ไว้ที่สน.ประเวศ และขอเบิกใบเสร็จชั่วคราวใหม่ เพื่อทำงานต่อ และในวันเดียวกันเจ้านายได้สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมสั่ง หยุดงานทันที และไม่ต้องทำงาน พร้อมสั่งพนง.บัญชีให้ตรวจสอบใบเสร็จและลูกค้าบัญชีที่ทำอยู่ว่ามีปัญหาหรือไม่ และได้ยึดเอกสารลูกค้าและงานต่างๆ โทรศัพท์มือถือและรถจักรยานยนต์ให้ส่งคืนโดยทันที และสั่งให้หัวหน้างานมาสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นอีกครั้ง วันที่21/12/54 ผมมาทำงานปกติ ได้แต่นั่งเฉยๆ ไม่มีงานให้ทำแล้ว เจ้านายได้ใช้ให้ทนายซึ่งเป็นหัวหน้างาน มาเกลี่ยกล่อมให้ออกจากงานโดยเขียนใบลาออกและจะพิจารณาเงินชดเชยให้ภายหลัง และแจ้งสมทบอีกครั้งว่าเจ้านายไม่ประสงค์ให้เราทำงานแล้ว เพราะทำให้บริษัทฯเสียหาย ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ผมเองปฎิเสธ ไม่ยอมรับในความผิด แต่ไม่อยากมีปัญหาจึงต่อรองขอให้พิจารณาเงินค่าชดเชยก่อนและ เงินค่าซ่อมบำรุงรถสะสม เงินค้ำประกันการทำงาน จึงจะเขียนใบลาออกให้เพราะไม่มั่นใจในตัวเจ้านาย ทางหัวหน้างานรับไว้พิจารณาขอปรึกษากับเจ้านายก่อนว่าอย่างไรแล้วจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง วันที่22/12/54 ได้รับแจ้งว่าๆไม่รับไว้พิจารณาและจะสั่งย้ายไปต่างจังหวัดหรือตัดเงินเดือน วันที่23/12/54ให้ผู้จัดการมาเจรจาและสอบถามเงื่อนไขว่าให้เขียนใบลาออกจะจ่ายอย่างไรอีกทั้งให้เซ้นต์รับใบเตือน ผมปฎิเสธข้อกล่างหาจึงไม่เซ็นต์รับทราบ วันที่26/12/54 ติดประกาศหักเงินเดือน20%โดยที่ผมไม่รู้เรื่องเลย จะใหผมทำอย่างไรดีรบกวนช่วยผมด้วยผมเคลียมาก จนท.แรงงานเขตแนะนำให้ผมไปติดต่อและปรึกษาที่ศาลแรงงาน รบกวนด้วยครับ
สมโภชน์
Guest
ppsp23@hotmail.com
ตอบ # 19 เมื่อ 28 ธันวาคม 2554 16:54 น. [แจ้งลบ]
ผมเคยได้รับสวัสดิการในการเช่าซื้อรถจักรรยานยนต์ใช้งาน เสื้อชุดทำงานและโบนัส เงินเดือนขึ้นทุกปี ทั้งหมดนี้ปัจจุบันไม้ได้รับเลยครับ เจ้านายอ้างว่าขาดทุน กำลังจะปิดกิจการ จึงยกเลิกกฎระเบียนต่างๆ แต่ไม่มีใบประกาศยกเลิกกฎระเบียบ พนง.หลายคนทยอยลาออก บางคนก็ได้รับเงินชดเชยตามแต่จะตกลงกัน บางคนก็ถูกกดดันให้ลาออกไปเอง ผมเองก็อยากได้เงินติดตัวไปบ้างแต่เจอปัญหาอย่างงี้ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ทำงานมา ประมาณ 11ปี จะไม่มีน้ำใจให้ผมเลยเหรอ เงินค่าซ่อมรถจยย.คันเก่าที่สะสม เจ้านายอ้างว่ายกเลิกไปแล้วจะไม่ให้ คันใหม่ก้ไม่ให้ซื้อ ไม่ให้ทำงาน ให้นั่งอยูเฉยๆ มองห้าเราแปลลกๆ กลุ้มมากครับ ผมป่วยก็ไม่ให้ลาหยุด
ต้องขอรบกวนปรึกษาด้วยนะครับ ไม่มีทางไปจะคุยกับใครก็คิดมาก
ขออขอบคุณมา ณ. โอกาสนี้
สมโภชน์
เลขาทนายภูวรินทร์
Admin
ตอบ # 20 เมื่อ 31 ธันวาคม 2554 09:41 น. [แจ้งลบ]
เนื่องจากคุณทนายภูวรินทร์ติดธุระต่างจังหวัดจนถึงวันที่ 10 มกราคม 2555

ดิฉันจึงได้ฝากข้อความ เรื่องราวและคดีความรวมถึงทุกปัญหาที่ทุกท่านได้ฝากไว้

ให้กับทางคุณทนายภูวรินทร์แล้วค่ะ

ซึ่งคุณทนายภูวรินทร์ขอเรียนแจ้งว่า สำหรับทุกปัญหานั้นคุณทนายจะรีบกลับมา

ตอบให้อีกครั้งและจะติดต่อกลับทุกท่านที่มีความทุกข์ใจด้านกฎหมายค่ะ



หากท่านใดต้องการรีบร้อนในการให้คำปรึกษาต้องโทรหาคุณทนายภูวรินทร์โดยตรงค่ะ



ขอขอบคุณและขออภัยในความล่าช้าค่ะ
วิราวรรณ
Guest
ตอบ # 22 เมื่อ 17 มกราคม 2555 22:16 น. [แจ้งลบ]
ทำงานที่บริษัทฯมา10ปี ไปขอใบลาออกล่วงหน้า 1 เดือน แต่ถูกบังคับให้เซ็นต์ใบลาออก วันนั้นเลย โดยจ่ายแค่โบนัส + เงินเดือนของเดือนนั้น
แต่ต่อมาอีก 1 สัปดาห์มีการจ้างพนักงานออก โดยจ่าย 11 เดือน อย่างนี้นายจ้างเบี่ยงเบนที่จะจ่าย 11 เดือนให้กับดิฉันใช่ไหม และดิฉันก็ยังหางานใหม่ไม่ได้ สามารถเรียกร้องอะไรได้บ้างคะ
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 23 เมื่อ 17 มกราคม 2555 23:51 น. [แจ้งลบ]
ทนายภูวรินทร์ ได้ตอบคำถามคุณสมโภชน์ ทางอีเมลล์แล้ว
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 24 เมื่อ 18 มกราคม 2555 00:10 น. [แจ้งลบ]
ตอบคุณ วิราวรรณ 

                ค่าชดเชย เป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ถ้าหากนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ฉะนั้น เมื่อลูกจ้างลาออกเองด้วยความสมัครใจ ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย และการที่คุณทำงานมากว่า 10 ปี หากถูกเลิกจ้างก็จะได้รับเงินค่าชดเชย 10 เดือน (300 วัน)

               
กรณีที่คุณถูกบังคับให้เซ็นต์ใบลาออก ซึ่งไม่ทราบว่าถูกบังคับอย่างไร เพราะความจริงหากไม่ยอมเซ็นต์ใบลาออก นายจ้างก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้ว ยกเว้น ใช้กำลังหรือหลอกลวงด้วยประการต่าง ๆ ดังนั้น ถ้าคุณไปฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยที่ศาลแรงงาน ซึ่งหากมีการสืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคุณประสงค์จะลาออกเอง และลงชื่อลาออกด้วยความสมัครใจ ศาลก็ยกฟ้อง แต่หากยืนยันหรือสืบพยานให้ปรากฏว่าถูกฉ้อฉล หรือหลอกลวงให้ลงชื่อลาออกเพื่อจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตลอดจนมีการจ้างพนักงานที่อายุงานระดับเดียวกันออกโดยจ่ายเงินค่าชดเชยด้วย ก็อาจชนะคดีได้ ไม่อยากแนะนำตรง ๆ แต่ให้อ่านคำตอบแล้วพลิกแพลงไปใช้ประโยชน์เองนะครับ
นายสมโภชน์
Guest
ppsp23@hotmail.com
ตอบ # 25 เมื่อ 21 มกราคม 2555 16:07 น. [แจ้งลบ]
เรียน..ทนายภูวรินทร์
รบกวนสอบถามและขอคำปรึกษาและชี้แนะด้วยครับ ต่อเนื่องจากเรื่องเดิมที่เคยรบกวนท่านมาแล้ว ต่อมาผมได้รับหนังสือตัดเงินเดือน 20% โดยบริษัทฯ จะตัดเงินเดือน วันที่ 28 มกราคมนี้เป็นเดือนแรกเงินเดือนจะออกช้ากว่าเดิมอีก 4-5วัน กล่าวหาว่าผมละเลยต่อหน้าที่และทำให้บริษัทฯ เสียหาย ซึ่งผมเองก็ได้ทำหนังสือชี้แจงไม่เห็นด้วยและไม่ยินยอมให้หักเงินเดือน ซึ่งจากการทำหนังสือขอคำชี้แจงนั้น เจ้านายไม่พอใจอย่างมาก และมีการแจ้งว่าจะมีคำสั่งย้ายไปทำงานต่างจังหวัดที่ จ.มหาสารคาม เร็วๆนี้ ไม่มีที่พักให้ โดยให้อาศัยนอนที่ทำงาน ผมเองไม่อยากไปทำเพราะผมมีบ้านและครอบครัวต้องเลี่ยงดูอยุ่ในกรุงเทพฯ ค่าแรงก็โดนหัก โบนัสก็ไม่จ่าย เงินเดือนไม่ขึ้นให้ เบี้ยเลี้ยงต่างจังหวัดไม่มีให้ คงอยู่ไม่ได้ครับ อีกเหตุผลหนึ่งในสนญ.ยังให้ผมนั่งอยู่เฉยไม่ได้ให้งานทำ ยังบอกกล่าวให้เขียนใบลาออกทุกวัน ขู่ไม่ให้เงินชดเชย ผมว่าเจตนาบริษัทฯ น่าจะให้ผมไปพ้นๆ หรือให้ออกจากงานมากกว่า จะให้ผมทำอย่างไรดีต่อไปครับ ขอความกรุณาท่านทนายโปรดช่วยพิจารณาให้คำแนะนำชี้หาทางออกให้ด้วย
ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ
สมโภชน์ พิมพา

ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 26 เมื่อ 26 มกราคม 2555 22:18 น. [แจ้งลบ]
ตอบคุณสมโภชน์

                  เรื่องนี้คุณสามารถไปร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงานที่สำนักงานคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ได้ครับ แล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินเรื่องให้คุณตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนเรื่องให้เขียนใบลาออกนั้น ไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่ควรลาออกเอง หากนายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องทำเป็นหนังสือ และจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ซึ่งหากเป็นไปตามนั้น คุณก็สามารถฟ้องเป็นคดีแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้อีกด้วย
ชาย
Guest
ตอบ # 27 เมื่อ 17 เมษายน 2555 16:30 น. [แจ้งลบ]
เรียน ทนายภูวรินทร์
ผมมีเรื่องสอบถามท่านคับ คือว่าวันที่12 เป็นวันทำงานปกติของบริษัท แต่ผมขอลาพักร้อนกลับบ้าน แต่ยังไม่รู้ผล แต่ผมได้แจ้งหัวหน้างานไว้ล่วงหน้าวแร้ว แต่พอเปิดงาน ผมได้รับใบเตือน และติ๊กอื่น(ให้ออก) อย่างนี้ผมผิดหรือไม่คับ และก่อนหน้านี้ผมได้รับใบเตือนแบบนี้ เมื่อปีที่แร้ว น่าจะครบ 1 ปี หรือไม่ก้อ เหลือ 2-3 วันก้อจะครบ อย่างนี้แร้วผมต้องทำไงต่อคับ ผมจะได้รับเงินชดเชยหรือไม (ที่สำคัญฝ่ายบุคคลกับผมไม่ถูกกันคับ คอยกัดผมทุกอย่าง)

ช่วยตอบด้วยนะคับ
เอ
Guest
ตอบ # 28 เมื่อ 27 เมษายน 2555 16:05 น. [แจ้งลบ]
โห ได้ความรู้เยอะมากเลยครับ
แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2555 16:10 น.
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@hotmail.com
ตอบ # 29 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2555 16:40 น. [แจ้งลบ]


ตอบคำถามคุณชาย

                ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่ตอบคำถามล่าช้าเป็นอย่างมาก ตามที่คุณชายได้สอบถามเรื่องกฎหมายแรงงานมานั้น ไม่ทราบว่าขณะนี้ผลเป็นประการใด แต่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างได้เลิกจ้าง (โดยลูกจ้างไม่มีความผิด) ดังต่อไปนี้

                (1) ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน  

                (2) ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 90 วัน  

                (3) ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 180 วัน  

                (4) ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 240 วัน

                (5) ลูกล้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 300 วัน 




                ข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

               (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา แก่นายจ้าง

               (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

               (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง

               (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็น ต้องตักเตือน

          หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้ กระทำผิด

              (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวัน หยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

              (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ


              การที่นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยโดยอ้างเหตุลูกจ้างได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งในเรื่องเดียวกับที่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือนั้น จะต้องเป็นการถูกตักเตือนในเรื่องเดียวกัน เพราะหากเป็นการเตือนในเรื่องอื่นย่อมไม่เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ 

              ดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6910/2546
“การที่โจทก์เคยถูกจำเลยตักเตือนเป็นหนังสือเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในการลากิจมาแล้วนั้น ต่อมาโจทก์ลาป่วย ไม่ว่าการลาป่วยของโจทก์ดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ก็ตามก็เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่โจทก์เคยถูกจำเลยตักเตือน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว” 

           ดังนั้น กรณีของคุณชายหากเป็นการตักเตือนเรื่องเดียวกัน นายจ้างย่อมอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ ซึ่งหากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องไปพบนิติกรศาลแรงงานที่บริษัทนายจ้างตั้งอยู่เพื่อใช้สิทธิทางศาลต่อไป


แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2556 12:43 น.
คนทำงาน
Guest
ตอบ # 30 เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2556 22:38 น. [แจ้งลบ]
ทำงานโรงงานมา16ปี ถูกบีบให้ออกจากงานโดยการไม่ขึ้นเงินเดือนและให้เข้ากะดึกตลอด ควรทำยังไงดีครับ สามารถฟ้องร้องได้หรือเปล่า
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@gmail.com
ตอบ # 31 เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2556 03:08 น. [แจ้งลบ]
ตอบคำถามคุณคนทำงาน

                สรุปว่าตอนนี้คุณออกจากงานไปแล้วหรืออยู่ระหว่างการถูกบีบให้ออก ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหากนายจ้างเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างเท่านั้น ไม่ใช่่ลูกจ้างลาออกเอง เพราะหากลูกจ้างลาออกเองก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแต่อย่างใด

                ส่วนการที่นายจ้างบีบให้คุณออกจากงานโดยการไม่ขึ้นเงินเดือนและให้เข้ากะดึกตลอด แล้วคุณก็ลาออกเอง ก็คงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยหรือเรียกร้องค่าเสียหายอะไรได้ เพราะเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่การข่มขู่บังคับ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นวิธีการของนายจ้างทุกแห่งที่ต้องการเลิกจ้างแต่ไม่ต้องการจ่ายเงินค่าชดเชย ก็มักจะใช้วิธีการบีบบังคับทางอ้อม ลูกจ้างจึงต้องใช้ความอดทนและหากวิธีการบีบบังคับดังกล่าวเกินความพอดีมาก ให้เข้ากะดึกนานเกินกว่าปกติ และเกิดเฉพาะคุณคนเดียว ลูกจ้างอาจใช้สิทธิร้องเรียนไปยังสำนักงานคุ้มครองแรงงานได้ ซึ่งก็ต้องเปิดศึกวัดว่าใครจะอดทนได้กว่ากัน 

              
คนทำงาน
Guest
ตอบ # 32 เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2556 07:57 น. [แจ้งลบ]
ทำงานโรงงานมา16ปี ถูกบีบให้ออกจากงานโดยการไม่ขึ้นเงินเดือนและให้เข้ากะดึกตลอด ควรทำยังไงดีครับ สามารถฟ้องร้องได้หรือเปล่า
ทนายภูวรินทร์
Admin
phuwarinlawyer@gmail.com
ตอบ # 33 เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2556 23:29 น. [แจ้งลบ]


ทนายภูวรินทร์ ได้ตอบคำถามคุณคนทำงานไว้ในลำดับที่ 31 เรียบร้อยแล้วครับ



1 2 3

Reply ตอบกลับกระทู้

ตัวหนา ตัวเอียง ตัวขีดเส้นใต้ ตัวขีดกลาง ชิดซ้าย กึ่งกลาง ชิดขวา รูปภาพ ลิ้งก์ ขนาดต้วอักษร สีต้วอักษร

    แนบไฟล์ :
(ขนาดไฟล์ไม่เกิน 2 MB.)
    ผู้เขียน : *
    E-mail : *
 ไม่ต้องการแสดง E-mail
    รหัสตรวจสอบ : Security Image
* กรุณากรอกรหัสที่อยู่ในรูป
Copyright by www.phuwarinlawyer.com
Engine by MAKEWEBEASY