คดีหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ตกับบทลงโทษที่โลกโซเชียลต้องรู้

Last updated: 19 ต.ค. 2566  |  25089 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ตกับบทลงโทษที่โลกโซเชียลต้องรู้

 คดีหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต กับ บทลงโทษที่โลกโซเชียลต้องรู้          
         คดีหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต ที่มีลักษณะการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทะเลาะกันด้วยสาเหตุต่างๆ แล้วโพสต์ข้อความใส่ร้ายหรือประจานคู่กรณี
, เรื่องชู้สาว หรือทำการตัดต่อภาพเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจผิด หากบุคคลที่ได้รับความเสียหายเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง ดารา นักร้อง นักธุรกิจ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงทางสังคม ก็จะได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เมื่อการหมิ่นประมาทกระทำโดยเครื่องมือสื่อสารสังคมออนไลน์ดังกล่าว ความเสียหายจึงกระจายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการกระทำผิดโดยการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น ก่อให้เกิดความไม่สงบสุขในสังคมแห่งการออนไลน์     

 

       ถ้าจะกล่าวถึงคดีอาญาเกี่ยวกับการโพสต์ประจานในทางโซเซียลมีเดียนั้น แต่เดิมกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง กรณีนี้ความเสียหายไม่มากมายนักเพราะมีเพียงแค่บุคคลที่สามที่รับทราบ (จำนวนผู้รับรู้การใส่ความไม่มาก) กฎหมายจึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           แต่ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพหรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น  ** กรณีนี้ความเสียหายกระจายไปตามการโฆษณา (จำนวนผู้รับรู้การใส่ความมีมากขึ้น หรือโอกาสของบุคคลที่รับรู้การใส่ความจะเพิ่มมากขึ้น) กฎหมายจึงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท
            ซึ่งการใส่ความที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น หมายถึง “การยืนยันข้อเท็จจริง” หรือ“กล่าวยืนยันความจริง” หรือ “ความเท็จ” หรือ “เอาเรื่องไม่จริงไปแต่งความใส่ร้าย” หรือ “เอาเรื่องจริงไปกล่าว” ก็เป็นความผิด เรียกได้ว่า “ยิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาท” หรือแม้แต่การเล่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาไปพูดให้บุคคลอื่นฟังก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ และต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นคำหยาบ หรือเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คลุมเครือ หรือเลื่อนลอยหรือกล่าวด้วยความน้อยใจ และข้อเท็จจริงที่กล่าวนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันในอดีตหรือปัจจุบันไม่ใช่เพียงการคาดคะเนหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต
           
        แต่กรณีแสดงความคิดเห็นบางอย่างแม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นในอนาคต แต่หากฟังแล้วทำให้เข้าใจว่าในปัจจุบันเป็นเช่นไร ก็ย่อมเป็นการหมิ่นประมาทได้ ต่อเมื่อสังคมเจริญขึ้น เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร หรือเป็นสังคมแห่งการออนไลน์ที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่ทันสมัยเชื่อมต่อสัญญาณด้วยอินเทอร์เน็ต และมีโปรแกรมเครื่องมือสื่อสารเป็นของตนเอง เช่น เฟซบุ๊ก หรือโปรแกรมไลน์ โดยอยู่ที่ไหนก็ออนไลน์ได้ ไม่ต้องเห็นหน้าตากัน หรือรู้จักกันมาก่อนก็หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นกันได้ง่ายขึ้น ด่าทอกันง่ายขึ้น เป็นที่มาของ “คดีเกี่ยวกับการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดีย” ที่มีจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่อง    
       รัฐจึงต้องตรากฎหมายขึ้นมาควบคุมเพื่อให้ทันกับยุคสมัย ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดีย หรือการกดแชร์ส่งต่อข้อความอันเป็นความผิดด้วย คือ     
       มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (กราฟิกประกอบ)      
       มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
       กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติอัตราโทษจำคุกและโทษปรับให้หนักขึ้นมากกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดาหรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ทั้งนี้ก็เพราะการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้างนั่นเอง

  

วิธีจัดการทั้งคนหมิ่นและคนโดนประจาน
คนที่ถูกโพสต์หมิ่น หรือเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการโพสต์ สิ่งแรกที่ต้องทำคือเก็บรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำผิดให้ได้มากที่สุด ไม่ควรด่าหรือโพสต์ประจานโต้ตอบ แต่ให้อธิบายชี้แจงความจริงเพื่อรักษาชื่อเสียงเบื้องต้นเท่านั้น จากนั้นก็นำพยานหลักฐานดังกล่าวไปแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


       สำหรับผู้ที่กระทำผิดโพสต์ประจานผู้อื่น หากเป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาท และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 16 ซึ่งเป็นความผิดที่สามารถเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ก็ควรสำนึกผิดและขอโทษผู้เสียหายโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขการเจรจาให้ครบถ้วน ผู้เสียหายก็อาจถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องได้
       แต่ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 มาตรา 14 เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้ คือไม่สามารถถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องได้ แต่ก็ยังมีทางออกด้วยการสำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายจากการกระทำ ศาลย่อมเมตตาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษไว้ก่อนเพื่อให้โอกาสไม่ต้องถูกจองจำ แต่หากต่อสู้คดีก็อาจได้รับโทษจำคุกสูงกว่าการรับสารภาพ     
       ดังนั้นก่อนที่จะโพสต์ข้อความใดๆ ที่มีลักษณะพาดพิงหรือเป็นการใส่ความบุคคลอื่นไม่ว่าเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งขึ้นมาใส่ร้ายป้ายสีกันลงในโซเชียลมีเดีย โดยมีเจตนาไม่สุจริต จึงควร “ตั้งสติคิดให้รอบคอบ”ก่อนโพสต์หรือก่อนกดแชร์ส่งต่อ นั่นเพราะบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการโพสต์หรือกดแชร์อาจแจ้งความกล่าวหาหรือฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเพื่อให้ได้รับการจำคุก เป็นเหตุให้ต้องมีประวัติกระทำผิดอาญา “บางคนถึงกับต้องสูญเสียโอกาสในการทำงาน” เพราะมีประวัติกระทำผิดอาญาดังกล่าว
        นอกจากนี้ “ผู้เสียหาย” ก็ยังมีสิทธิ์ฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายทางแพ่งอีกด้วย หากผู้เสียหายมีชื่อเสียงหรือเกียรติคุณทางสังคมสูง ค่าเสียหายก็จะสูงตามไปด้วย ฉะนั้น อย่าคิดโพสต์แค่เพียงความสะใจ เพราะอาจจะเสียใจภายหลังก็ได้ครับ


 


อ่านต่อได้ที่ http://astvmanager.com/SpecialScoop/ViewNews.aspx?NewsID=9590000043140


   *********************************************************
หากคุณมีปัญหาและต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมาย เพิ่มเติม  
ติดต่อได้ที่   ทนายภูวรินทร์ ทองคำ  โทร.081-9250-144
E-Mail : Phuwarinlawyer@hotmail.com

http://www.phuwarinlawyer.com/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้